สธ. ยื่นหนังสือถึง กทม. เล็งเอาผิด “มะตูม” เข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ. โรคติดต่อ

จากกรณีดราม่าของดีเจ “มะตูม เตชินท์ พลอยเพชร” ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการจัดงานปาร์ตี้วันเกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ล่าสุด นาย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวปมดราม่าเคสดาราดังปกปิดข้อมูล ว่า เรื่องนี้ทางกรมควบคุมโรค ได้ส่งหนังสือถึงสำนักอนามัย กทม. ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ย้ำความสัมผัสของข้อมูลมีผลกับการสอบสวนโรค ในการติดตามผู้สัมผัส ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับการตรวจรักษา เป็นการลำดับความสำคัญ เป็นการช่วยชาติ อย่าได้กังวลคนทำงานสอบสวนโรค ไม่มีทางเอาข้อมูลพูดไปทำอะไรแน่นอน การบอกข้อมูลไม่ชัดเจนส่งผลอันตรายต่อคนวงกว้าง และหากไม่อยากโดนสอบสวนโรค ก็อย่าไปสถานที่เสี่ยง หรือ ทำผิดกฎหมาย
.
นายอนุทิน กล่าวว่า การที่มีการจัดเลี้ยงงานวันเกิดในโรงแรม ที่มีการให้บริการเครื่องดื่มสุราและเปิดเกินเวลา 3 ทุ่ม ถือว่ามีความผิด ในส่วนสถานที่ ส่วนตัวบุคคลมีการรวมกลุ่มกันสังสรรค์ หากปกปิดข้อมูลก็มีความผิดตามพ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อ หากไม่อยากเปิดเผยข้อมูลก็อย่าทำผิดขอให้เคารพกฎหมาย
.
ล่าสุดวันนี้ (28 ม.ค. 2564) แพทย์หญิง “อภิสมัย ศรีรังสรรค์” ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เผยว่า เคสของดีเจมะตูมพบว่าตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. มีผู้ติดเชื้อตัวเลขทางการ 24 ราย และวันนี้ทราบว่ามีเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย และยังมีผู้ที่มีสัมผัส เสี่ยงสูงอีก 113 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 53 ราย ทั้งนี้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีความกังวลว่า บุคคลที่เชื่อมโยงกับเคสของดีเจมะตูมได้เดินทางไปยังสถานที่หลายแห่ง ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และมีการให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน และปกปิดข้อมูล ทำให้เกิดความสับสน และจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป ทำให้การป้องกันและควบคุมมีความล่าช้าไม่ทันการ
.
ดังนั้น กรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้ เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ มีความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมทั้งอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น สถานที่ที่ใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดด้วย รวมถึงบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ย่อมเป็นความผิด ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์สังคมลงโทษผู้ติดเชื้อ และอยากให้สังคมติดตามข่าว โดยไม่ใช้อารมณ์ และให้เกิดการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต


เข้าชม 1,004 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม