กลุ่มศิลปินจิตอาสาวาดรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ประชาชนเป็นที่ระลึก

ไม่เพียงแต่มีพระอัจฉริยะภาพทางด้านดนตรีที่สร้างชื่อจนก้องโลกแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงสนพระราชหฤทัยในงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์อีกด้วย และภายหลังที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง จนได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน”     
และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อแสดงความจงรักภักดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช กลุ่มศิลปินจิตอาสากว่า 200 คน ทั้งบุคคลทั่วไป รวมถึงเหล่านิสิต นักศึกษา และนักเรียน จึงได้รวมตัวกัน วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มอบให้แก่ประชาชนเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และเป็นความทรงจำที่ดีงามของพสกนิกรชาวไทย ในขณะที่เหล่าศิลปินจิตอาสาต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้จับดินสอและพู่กันถ่ายทอดภาพองค์อัครศิลปิน ผู้มีพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะของไทย
    
ณัฐ ปัญจางคกุล ศิลปินผู้ซึ่งผันตัวเองจากจานสีและปลายพู่กัน หันหน้าสู่วงการอาหาร ก็ขอพักจากหน้าเตาในครัวมาจับพู่กันอีกครั้ง กับการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์และการใช้สีชอล์ค ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และตั้งใจจะส่งต่อรูปนี้ให้คนไทยได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
    
และถึงแม้จะสูญเสียแขนขวาไปตั้งแต่ 20 ปีก่อน แต่ชัยศักดิ์ ศรีราแดง ศิลปินจิตอาสา วัย 33 ปี ก็ขอร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ด้วยการใช้มือซ้ายที่เหลือเพียงข้างเดียว จับดินสอวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ออกมาให้ดีที่สุด แม้ความรู้สึกในครั้งนี้จะเศร้าหมอง แตกต่างจากการวาดภาพในหลวงเมื่อครั้งก่อนๆ ก็ตาม
    
เฉกเช่นเดียวกับหัวใจของศิลปินวัย 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ที่แม้จะไม่เคยเรียนวาดรูปและไม่เคยวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เลยซักครั้ง แต่ก็ขอใช้โอกาสนี้จับดินสอวาดภาพในหลวงผู้ทรงเป็นที่รักให้สุดความสามารถที่ตัวเองมี


ขณะที่หนุ่มกราฟฟิกดีไซน์ วัย 28 ปีซึ่งเคยไปวาดพระบรมสาทิสลักษณ์การ์ตูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ท้องสนามหลวงมาก่อน ก็ขอร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินจิตอาสาครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ภาพจะใช้ลายเส้นสีขาว-ดำเป็นหลัก แต่ก็เจ้าของความคิดก็อยากสร้างรอยยิ้มเล็กๆ ให้ผู้ที่รอรับภาพ ด้วยการเติมสีชมพูบนพระปรางหรือบนแก้ม พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ลงไปด้วย
    
ขณะที่ประชาชนซึ่งมารอรับพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ก็ตั้งใจว่าจะเก็บพระบรมสาทิสลักษณ์นี้ไว้  เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
    
ไม่เพียงแต่ประชาชนจะได้รับรูปจากปลายพู่กันของเหล่าศิลปินที่ถ่ายทอดด้วยหัวใจ  แต่กิจกรรมในครั้งนี้ยังได้สร้างความสุขเล็กๆ ท่ามกลางบรรยากาศอันเศร้าสลดที่คนไทยทั้งชาติมิอาจลืมไปจากหัวใจได้ :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

 


 

เข้าชม 15 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม