Art Today : การปรับเปลี่ยนศิลปะตีกลองสะบัดชัยให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ของ “ครูน้อง ธนวัฒน์” ศิลปินพื้นบ้านลานนา

เสียงกลองสะบัดชัยดังกึกก้องในวัดสว่างเพชร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นที่คุ้นชินของคนในหมู่บ้านหนองปลามัน เพราะที่วัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ ศูนย์การเรียนรู้เยาวชนรักถิ่นเกิด โดยมี “ครูน้อง” หรือ “นายธนวัฒน์ ราชวัง” ศิลปินพื้นบ้านลานนา ปัจจุบันดำรงค์ตำแหน่ง นายกสมาคมกลองและศิลปะการแสดงลานนาและประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอแม่ริม ควบคู่กันไปด้วย เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนที่สนใจเข้ามาเรียนกลองลานนา โดยเฉพาะ กลองสะบัดชัย กลองที่อยู่คู่อาณาจักรลานนามาแล้วหลายศตวรรษ


การคลุกคลีกับกลองลานนามาตั้งแต่ยังเด็ก รับช่วงต่อการแสดงวัฒนธรรมลานนาจากรุ่นคุณแม่ซึ่งเป็นช่างซอ (ขับซอ) จึงทำให้ครูน้องซึมซับความรักในวัฒนธรรมบ้านเกิดอย่างสุดตัว จากเป็นผู้ชมในสมัยเด็กเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้เล่นในช่วงก้าวสู่วัยรุ่นและกลายมาเป็นผู้ถ่ายทอดในปัจจุบัน 


.

และด้วยความรักในเสียงกลองลานนา โดยเฉพาะกลองสะบัดชัย ทำให้ครูน้อย ใช้ประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิต วิชาความรู้จากบรรพชนที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญของชีวิต เป็นครูผู้สร้าง สร้างเยาวชนที่รักในดนตรีลานนา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เยาวชนรักถิ่นเกิด เป็นแหล่งความรู้ให้กับเยาวชนทั้งในหมูบ้านและพื้นที่ใกล้เคียงได้มาเรียนรู้ศิลปะการตีกลองแบบลานนา


“ผมได้เรียนรู้การตีกลองจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน จากพระ ตั้งแต่ยังเด็กเพราะตัวเองก็มีความสนใจในศิลปะแขนงนี้อยู่แล้ว  กลองลานนาเป็นเหมือนลมหายใจที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก การตีกลองลานนา มีข้อจำกัดในเรื่องของอายุของผู้ตี เนื่องจากต้องใช้กำลังมาก ผู้แสดงจึงมักอยู่ในช่วงของวัยหนุ่มสาว เมื่อเรามาอายุมากขึ้นความคล่องแคล่วก็น้อยลง การแสดงก็จะไม่ตื่นเต้น ไม่ฮึกเหิม จึงต้องถึงเวลาที่จะเป็นผู้ถ่ายทอด และ ถ้าไม่ถ่ายทอดการแสดงต่างๆ ก็จะหมดไปกับเรา ก็จะสูญไปกับเรา จึงเริ่มต้นจากเด็กๆ ในชุมชน หลายปีผ่านไปจึงเป็นกลุ่ม และเป็นศูนย์เรียนรู้อย่างในปัจจุุบัน”

ตลอด 25 ปี ในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เยาวชนรักถิ่นเกิด และสร้างหลักสูตรการเรียน มีเยาวชนหลากหลายรุ่นเข้ามาเรียนรู้ ทั้งที่มาจากความสนใจจริง และมาเพราะหลักสูตรการศึกษาบังคับให้มาเรียน แต่ครูน้อยในฐานะครูภูมิปัญญาพื้นบ้านก็ยังดีใจที่อย่างน้อยก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดให้เยาวชนได้รู้รากเหง้าของวัฒนธรรมของตนเองที่ถูกต้อง และ ยังสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาไปสู่การแสดงที่น่าตาตื่นใจดึงดูดผู้ชมในปัจจุบันได้ 

“ลานนามีกลองอยู่มากมาย ผมเล็งเห็นว่ามีกลองอยู่ชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นการแสดงให้คนสนใจได้ นั่นก็คือกลองสะบัดชัย เพราะกลองสะบัดชัยเป็นกลองที่มีเสน่ห์ที่การใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างอิสระแทนไม้กลองเหมือนได้ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามมีการใช้ศอกใช้เข่าใช้หัว สำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ก็จะมีการใช้ท่าทางประกอบเช่นการตีลังกา หมุนตัว กลับตัว และสามารถเร่งจังหวะได้ คนตีกลองก็จะสนุก คนดูก็จะสนุก ปัจจุบัน ผมได้พัฒนาให้เป็นรูปแบบการแสดงมากขึ้น นำผู้เล่นในตำแหน่งต่างๆ อย่างเช่นฉาบ ขึ้นมาร่วมเป็นตัวชูโรง มาต่อสู้กัน เพิ่มความสนุกของการดูมากขึ้น นอกจากนี้ยังเอาไปแสดงร่วมกับการฟ้อนรำทั้งในจังหวะช้าและจังหวะเร็วได้อีกด้วย”

เมื่อย้อนกลับไปครั้งเปิดสอนแรกๆ เด็กๆ ต้องมาเรียนทุกวันมาวันรุ่งขึ้นก็ต้องมาทบทวนท่าและเรียนท่าใหม่ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป การใช้สื่อการสอนที่ทันโลกมากขึ้น ครูน้อยถ่ายคลิปวีดีโอการสอนให้เด็กๆ สามารถทบทวนท่าทางต่างๆ ได้เองที่บ้าน เมื่อกลับมาเรียนทำให้สอนท่าใหม่ได้เร็วมากขึ้น เด็กๆ ก็สนุกกับการเรียน ปัจจุบันนอกจากเด็กๆที่มาเรียนจะเพื่อความสนุกและหาวิชาติดตัวแล้ว นักเรียนของครูน้อยหลายคนได้นำไปประกอบเป็นอาชีพหาเงินส่งตนเองเรียนและช่วยเหลือครอบครัว

“สิ่งที่เรามีอยู่ในชุมชนคือมรดกทางภูมิปัญญาที่มีค่ามาก ไม่ต้องไปขนขวายหาที่อื่น ลองเปิดใจเข้ามาและรับในสิ่งที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ อนาตคของกลองลานนาจะอยู่ได้ และเป็นที่รู้จัก การแสดงก็ต้องการปรับตัวให้เข้ากับคนยุคใหม่ การแสดงที่แสดงมา 20 30 ปี ก็อาจจะไม่ตอบสนองต่อผู้ชมในยุคนี้ แต่ทั้งนี้ก็อย่าให้ขัดต่อขนบขัดต่อสิ่งดั่งเดิมที่ดีงาม เราสามารถปรับปรุงและสร้างสรรค์ให้ทันกับผู้ชมในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่า การแสดงลานนาก็จะไปได้ไกล และอยู่กับคนรุ่นต่อๆ ไป” ธนวัฒน์ ราชวัง ศิลปินพื้นบ้านลานนา 

เข้าชม 549 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม