Art Today : “ครูวรพจน์” อดีตตำรวจที่ผันตัวเป็นศิลปินพื้นบ้าน “หนังตะลุง”

เสียงบทกลอนการขับร้องจากนายหนังตะลุงเป็นที่คุ้นชินของผู้คนที่อยู่ใกล้กับสมาคมหนังตะลุงปักษ์ใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งพำนักของนายหนัง “จ.ส.ต.วรพจน์ บุญญา” ศิลปินพื้นบ้าน “หนังตะลุง” และนายกสมาคมหนังตะลุงปักษ์ใต้ ที่ทุกวันนี้มีเยาวชนแวะเวียนมาหาความรู้จากนายหนังมากประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง


“ครูวรพจน์” เป็นอดีตตำรวจตระเวนชายแดนที่มาเป็นนายหนังตั้งแต่ปี 2523 เนื่องจากนโยบายราชการที่ต้องการเอาการเมืองนำการทหาร ให้ผู้ที่มีความสามารถด้านศิลปะพื้นบ้านออกแสดงหนังตะลุงพบปะประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่นโยบายของราชการ ครูวรพจน์จึงได้เริ่มเล่นหนังตะลุงตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ในนามหนังตะลุงราชการหรือหนังตะลุงตำรวจตระเวนชายแดน หนังตะลุงเพื่อประชาชน และเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2525

“ครูวรพจน์” เล่าว่า “การแสดงหนังตะลุงในสมัยนั้นเป็นการแสดงฟรีตามหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะนำข้าวหม้อแกงหม้อ มีอาหารมาเลี้ยงศิลปิน เรื่องส่วนใหญ่ที่เล่นก็จะเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของกฏหมายต่าง ๆ ที่ประชาชนควรรู้ เรื่องของสุขภาพอนามัย เรื่องขั้นตอนการติดต่องานราชการต่าง ๆ หนังตะลุงจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานราชการ ซึ่งถ้าใช้วิธีการบรรยายประชาชนก็จะไม่สนใจ จึงต้องเริ่มจากการสร้างความคุ้นเคยกับประชาชน เมื่อประชาชนไว้ใจ เราพูดผ่านตัวหนังก็จะทำให้ประชาชนเปิดใจรับฟังและปฏิบัติตาม”


“ครูวรพจน์” ยังบอกอีกว่า ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปนานเท่าไหร่ แต่หนังตะลุงก็ยังคงทำหน้าที่ในการรับใช้สังคมเรื่อยมา เพราะหนังตะลุงไม่ใช่เฉพาะมอบความบันเทิงเท่านั้น แต่หนังตะลุงเป็นครูและเป็นหมอ ซึ่งในการเป็นครูนั้น คือหนังตะลุงจะสอนมารยาทในสังคม สอนกุลสตรี สอนความรู้ให้ชาวบ้าน ส่วนหน้าที่เป็นหมอนั้น หนังตะลุงทำหน้าที่ในการดูแลจิตใจ คลายความกังวล เป็นคุณค่าทางความเชื่อ ทำให้หน้าที่ของหนังตะลุงไม่มีวันเปลี่ยน แต่ต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การหยิบเอาเรื่องตามหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องในทีวี มาถ่ายทอดขยายความก็จะเพิ่มความสนใจและเพิ่มความใกล้ชิดกับผู้ชมได้ เกร็ดความรู้ต่าง ๆ ก็จะถูกถ่ายทอดลงไปในบทหนังที่นายหนังขับออกมา

“เสน่ห์ของหนังตะลุง นอกจากสีสันที่สวยงาม ลวดลายที่บรรจงแกะลงไปในหนังอย่างละเอียดแล้ว สิ่งที่ทำให้ตัวละครมีชีวิตคือความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนของนายหนัง ถ้านายหนังเป็นคนที่รูปร่างหน้าตานิสัยใจคอดี พูดเก่งพูดดีมีสาระก็เป็นเสน่ห์หนึ่งที่ดึงดูดให้คนสนใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้ชมนั่งชมและรับรู้เรื่องราวที่หนังตะลุงกำลังเล่าทั้งสิ้น”

“ครูวรพจน์” จึงให้ความสำคัญมากกับหน้าที่ของนายหนัง ที่จะต้องเป็นคนที่มีศีลธรรม มีความรอบรู้ มีสติปัญญา นอกจากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกาพย์กลอนให้กับลูกศิษย์แล้ว ครูวรพจน์ยังปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสามัคคี ในการแสดงหนังตะลุงของตนอีกด้วย


ปี 2530 ครูวรพจน์มีงานแสดงหนังตะลุงเต็มแน่นทุกวัน จึงตัดสินใจลาออกจากราชการมาเล่นหนังตะลุงเป็นอาชีพเต็มตัว เมื่อมีชื่อเสียงด้านการแสดงมากขึ้น ก็จะมีเด็ก ๆ ที่อยากเล่นเข้ามาเรียน เมื่อก่อนการเรียนหนังตะลุงต้องไปอยู่บ้านครู เรียนไป 4-5 ปี ก็ยังเล่นไม่ได้ แต่ปัจจุบันเด็ก ๆ มาเรียนปีเดียวก็เล่นกันได้ เพราะมีโซเชียลฯ ช่วยในการสอน เด็ก ๆ มีไอดอล เรียนรู้จากนายหนังที่ชื่นชอบ และครูก็จะช่วยขัดเกลา ซึ่งตัวครูเองก็เปิดกว้างให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้จากครูหลายคน ทำให้เด็กได้ความรู้มากขึ้น และยังมีสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็ก ๆได้เรียนรู้ ซึ่งก็สามารถไปเล่นเป็นอาชีพได้ต่อไป :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 738 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม