Art Today : “ครูประกอบ” ครูผู้ใช้ใจสอนมโนราห์ หวังเด็กรุ่นใหม่สานต่อ

ท่าร่ายรำที่อ่อนช้อยบวกกับการขับกลอนที่มีมนต์ขลัง เป็นพิธีที่สร้างแรงศรัทธาให้กับคนในท้องที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถ่ายทอดโดย “ครูประกอบ เดชรักษา” ศิลปินพื้นบ้าน “มโนราห์”


“ครูประกอบ” เรียนรู้การรำมโนราห์ การขับกลอนและพิธีแบบโบราณจากพ่อ โดยเริ่มฝึกฝนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จากการสังเกตและเห็นอยู่ทุกวัน ทำให้มโนราห์โบราณฝังเข้าไปอยู่ในสายเลือด เมื่อคุณพ่อเสียในปี 2529 ครูประกอบก็แยกออกมาตั้งวงใหม่ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานราชการที่มอบเครื่องแต่งตัวให้

เพราะมโนราห์กับสังคมเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาะมโนราห์โบราณ ซึ่งจะมีพิธีกรรมเข้ามาเป็นส่วนประกอบทำให้มโนราห์และประชาชนอยู่ร่วมกันได้ คนไม่ได้มาดูเฉพาะการร่ายรำ แต่มีการตอบโต้ แซว หยอกล้อกันระหว่างผู้แสดงและผู้ชม ซึ่งก็สร้างความเป็นกันเองความสนุกสนาน นอกจากพิธีกรรมความเชื่อแล้ว คณะมโนราห์ก็ยังตอบสนองความสนุกสนานตามงานต่าง ๆ ทั้งงานบวช งานวัด ซึ่งก็มีการว่าจ้างมโนราห์ไปแสดงอยู่ไม่ขาด


“ครูประกอบ” ยังเล่าอีกว่าจากความสำคัญของมโนราห์ที่มีต่อชุมชน ทำให้ทุกวันนี้มีเยาวชนรุ่นใหม่สนใจที่จะเรียนรู้และสานต่อมโนราห์ และตนเองก็พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีทั้งการร่ายรำ การขับกลอน รวมถึงงานพิธีต่าง ๆ ให้กับลูกศิษย์ที่สนใจ จากการแสดงที่มีอยู่อย่างไม่ขาดและชื่อเสียงทางด้านพิธีกรรมแบบโบราณ ครูประกอบจึงได้เริ่มต้นเข้าไปเป็นครูศิลปะพื้นบ้าน ถ่ายทอดองค์ความรู้ในโรงเรียน เริ่มจากโรงเรียนสตรีทุ่งสง ในปี 2535 จากนั้นจึงมีหลายโรงเรียนเชิญไปสอนเรื่อยมา

“อยากถ่ายทอดความรู้มโนราห์แบบโบราณให้กับเด็ก ๆ หลังจากเริ่มสอนในโรงเรียนก็มีความตั้งใจและทำด้วยใจจริง ถ้าไม่รักก็คงทำไม่ได้ ทุกวันนี้เด็ก ๆ สนใจมโนราห์โบราณเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สนใจเรียนรู้และสนใจที่จะสานต่อ เราก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สมัยก่อนก็มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น ทัด โมง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ปี่ แต่ตอนนี้เราสามาถใช้เครื่องดนตรีสากลมาแทรกได้ เพิ่มความน่าสนใจ เพื่มความสนุกให้กับคนดู เด็ก ๆ เยาวชนก็สนใจมากขึ้น”

เมื่อเอาใจเข้าแลกทุ่มเทอย่างเต็มที่ทั้งในการแสดงและฐานะครู ทำให้มโนราห์โบราณของครูประกอบมีลูกศิษย์มากมายมาเรียนรำ เรียนต่อกลอน ขับร้อง ซึ่งครูประกอบก็ได้ให้ลูกศิษย์ไปร่วมในงานพิธีต่าง ๆ เริ่มจากเป็นผู้สังเกตการณ์ เด็กฝึกหัด ก็จะพัฒนาได้ลงเวทีและสร้างรายได้ในโอกาสต่อไป


“ครูประกอบ” ย้ำเสมอว่ามโนราห์มีการการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามยุคก็จริง แต่ของเก่าก็ไม่ทิ้ง การฝึกฝนต้องฝึกเด็ก ๆ เป็นกลอนสดก่อนและรำเป็น จากสมัยดั้งเดิมที่มโนราห์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่น ก็ต้องมีการปรับให้เป็นการแสดง ให้มีความสนุกมากขึ้น เพื่อดึงดูดคนดู เมื่อมีคนดู มโนราห์ก็อยู่ได้ เราต้องใช้ใจของเราดึงผู้ชม

“เสน่ห์ของมโนราห์อยู่ที่ศิลปิน การขับร้องกลอน การรำ การโต้ตอบกับคนดู ในท้องถิ่นยังมีคนสนใจ การสนับสนุนจากประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ การสนับสนุนจากรัฐบาลก็มีบ้าง แต่หลักๆ จากประชาชนจะมีส่วนมากกว่า โดยเฉพาะพิธีกรรมต่าง ๆ กับความเชื่อที่ยังมีอยู่ในสังคมจะทำให้มีการแสดงเกิดขึ้น พ่อแม่ที่พาเด็ก ๆ มาฝึกอยากให้ลูกหลานได้สืบสานงานต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็สืบทอดตามสายเลือดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่ว่าจะมีคนสนใจจากเหตุผลใด มโนราประยุกต์และมโนราห์โบราณ ครูประกอบก็พร้อมที่จะถ่ายทอด และสอนให้ด้วยใจ” :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 521 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม