Art Today : รู้จัก “ครูแอ๊ด” ศิลปินผู้ผสมผสานดนตรีลานนากับดนตรีตะวันตก

“ภานุทัต อภิชนาธง” หรือ “ครูแอ๊ด” ศิลปินเพลงพื้นบ้านลานนาผู้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งร้อง เล่น และทำเครื่องดนตรี นั่นเป็นเพราะชีวิตที่เติบโตมาพร้อมกับเสียงดนตรีลานนาในบ้าน ทำให้ซึมซับและเกิดความสนใจ จึงได้หัดเล่นเครื่องดนตรีลานนาตั้งแต่ยังเด็ก จนได้เข้าไปศึกษาเรื่องดนตรีลานนาโดยตรงที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่


“ครูแอ๊ด” เล่นเครื่องดนตรีทุกชนิด ซึ่งทุกครั้งที่ได้เล่นคนฟังจะสัมผัสได้ถึงความสุขและความหลงใหลที่ครูแอ๊ดมีต่อเครื่องดนตรีชนิดนั้น ๆ “ทุกเครื่องดนตรีเป็นเครื่องดนตรีที่น่าพิศมัยทั้งนั้น แต่ละเครื่องดนตรีมีเสียงที่แตกต่างกัน อย่างพิณเปี๊ยะถึงแม้จะเบาแต่ก็มีเสน่ห์ ปี่จุมก็จะมีการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์ ปี่แนแม้จะมีเสียงดังที่หลายคนอาจจะไม่ชอบ แต่ก็สามารถรับใช้สังคมในบทบาทที่แตกต่างกันออกไป ดนตรีทำหน้าที่รับใช้สังคมตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดมาก็ต้องมีเพลงกล่อมลูก โตมาก็มีมหรสพการแสดงงานรื่นเริง ตายมีการประโคมดนตรีที่ไม่ให้ญาติพี่น้องต้องโศกเศร้า เป็นวิถีชีวิตของคนลานนาที่ผูกพันกันมากับดนตรี แม้แต่ศาสนา ความเชื่อ วัดวาอารามก็จะมีเครื่องดนตรีเครื่องประโคมใหญ่ ๆ อยู่ในวัด”

“ครูแอ๊ด” เป็นลูกบุญธรรมของ “พ่อบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์” ลูกศิษย์ของเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ช่างทำดนตรีลานนาทำให้ครูแอ๊ดได้รับการถ่ายทอดการทำเครื่องดนตรีแบบลานนามาด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่สร้างสรรค์งานใหม่ให้กับเครื่องดนตรีและวงการดนตรีลานนนา โดยเฉพาะการนำเครื่องดนตรีลานนาไปผสมผสานกับเครื่องดนตรีแบบตะวันตก เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางดนตรีที่น่าสนใจ


“ดนตรีมันต้องมีการสร้างสรรค์ อย่างซึงคอร์ด ผมคิดมาเพื่อให้เครื่องดนตรีลานนาสามารถบรรเลงเพลงในโน๊ตสากลได้ และเช่นเดียวกันเราก็ต้องทำเครื่องดนตรีสากลให้บรรเลงเพลงในสไตล์ลานนาให้ได้ เป็นความท้าทายที่กำลังทำ เพราะมีลูกศิษย์ที่เป็นชาวต่างชาติ ชาวตะวันออกกลางก็เริ่มมีการเอาเครื่องดนตรีของพวกเขามาเล่นเพลงลานนา และได้มีโอกาสทำร่วมกับโปรดิวเซอร์ระดับโลกอย่าง ไมเคิล เชงเกอร์ (Michael Schenker) ซึ่งมาช่วยให้ดนตรีลานนามีสีสันและกระเตื้องมากขึ้น ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานต่อไป โดยเฉพาะการสร้างเครื่องดนตรีใหม่ ๆ และสร้างนวัตกรรมมาผสมผสานเครื่องดนตรีลานนา”

จากเส้นทางของคนดนตรี มาสู่การเป็นครูถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้สะสมมา ความตั้งใจของครูแอ๊ดคือการอนุรักษ์และตอกย้ำของเดิมของโบราณที่มีสืบทอดมาอย่างมีคุณค่าน่าเชิดชู ในขณะเดียวการสร้างสรรค์งานใหม่ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ดนตรีไม่มีวันตาย แต่ต้องแยกให้ลูกศิษย์รู้ชัดเจนและแยกแยะออกระหว่างของดั้งเดิมและของใหม่


“ในสมัยหนึ่งดนตรีลานนาเป็นดนตรีที่น่าน้อยใจ เป็นดนตรีที่ใครก็ไม่อยากเล่น เล่นแล้วเชยล้าสมัย ผมจะสอนว่า เวลาเล่นไม่ต้องเล่นเป็นศิลปิน ไม่ต้องเล่นดีเลิศ แต่เล่นแล้วต้องมีความสุข เมื่อเรามีความสุขคนดูคนชมก็จะมีความสุขไปกับเรา หลาย ๆ ศิลปินที่โดนบังคับเล่น เล่นทุกวันบางทีก็น่าเบื่อ เราสอนให้ทุกคนเกิดความสุขเวลาเล่น เล่นผิดเพี้ยนไม่เป็นไรแต่ขอให้มีความสุข ปัจจุบันคนก็สนใจดนตรีมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ดนตรีลานนาก็ไปอีกขั้นหนึ่ง มีการผสมผสานมากขึ้น มีการทำดนตรีขึ้นมาใหม่มีการคิดเรียบเรียง ไม่เหมือนเพลงโบราณอีกต่อไป ชาวต่างชาติก็สามารถเล่นได้ และบางครั้งก็นำเพลงของตะวันตกมาเล่นด้วยเครื่องดนตรีลานนาทำให้คนดูตื่นเต้น มันไม่เกิดขึ้นในยุคก่อน”


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเรียนการสอนก็เปลี่ยนไป ครูแอ๊ดจึงใช้เทคโนโลยีอย่างมีประโยชน์ปรับเป็นสื่อการสอนให้ทันกับผู้เรียนและเพิ่มความสนใจมากขึ้นด้วยคลิปการแสดงและโชว์จากครู “ลูกศิษย์จะเหมือนเป็นคนสอน ลูกศิษย์จะเป็นผู้ป้อนคำถามและความสงสัย ส่วนเราต้องไปหาคำตอบให้กับลูกศิษย์ ดังนั้นลูกศิษย์จึงเป็นผู้สอนครู ส่วนเราก็ต้องมีเทคนิคในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย ทำให้เกิดความสำเร็จทั้งคนเรียนและคนสอน”


สิ่งหนึ่งที่ครูแอ๊ดย้ำเสมอในเรื่องของสุนทรียะทางดนตรี คือ ดนตรีมีหลายอารมณ์ บางครั้งสุนทรียะเกิดขึ้นจากความเพราะ บางครั้งเกิดจากความตลก บางครั้งเกิดจากความน่าเกลียดน่ากลัว บางครั้งเกิดด้วยความเศร้า บางครั้งเกิดขึ้นด้วยความตื่นตาตื่นใจความเซอร์ไพรส์ที่ศิลปินสร้างขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้การแสดงดนตรีลานนาเป็นที่น่าจดจำ ครูแอ๊ดจึงมั่นใจว่าดนตรีลานนนาจะเป็นดนตรีที่ไม่สูญหายไปอย่างแน่น :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 1,155 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม