กว่าจะมีวันนี้ของกิจการ”กราโนล่าสูตรคลีน”เจ้าแรกของไทย

การเปลี่ยนแปลงและจุดเริ่มต้นของ “Diamond  grains”


 

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนมีความฝัน ว่าจะมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่หลายคนมัวแต่ฝันและยังรีรอที่จะทำให้เป็นจริง เพราะเหตุปัจจัยแตกต่างกันไป แต่ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่รอให้ฝันสลายไปในอากาศ เมื่อเธอมีความฝัน เธอมุ่งมั่นเดินตามฝัน  และรายการ Business  Connection วันที่ 26 พ.ค.2559 ได้พูดคุยกับคุณอูน-ชนิสรา โททอง เจ้าของธุรกิจกราโนล่า แบรนด์  Diamond grains กราโนล่าสูตรคลีน เจ้าแรกในไทย


 

คุณชนิสรา เริ่มเล่าถึงครอบครัวว่า เติบโตมาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง  แต่ครอบครัวเป็นครอบครัว-ของคนชอบทำงานและสนุกกับการทำงานมากกว่าออกไปเที่ยว จึงซึมซับว่าเวลาว่างก็อยากทำงาน คุณพ่อถือเป็นต้นแบบคนแรก คุณพ่อทำงานรับจ้างในบริษัท  ส่วนคุณแม่เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในมีบริษัทเป็นของตัวเอง จึงเห็นบรรยากาศแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กเวลาได้การบ้านมาก็จะตื่นเต้นอยากกลับไปทำ อยากใส่ไอเดียเข้าไปในงาน  พอเรียนจบมัธยมก็อยากหางานทำ ตอนไปฝึกงานในองค์กรก็จะมีหน้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ แต่ตอนนั้นนไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร  ลองเขียน content ให้กับแบรนด์หนึ่งแล้วรู้สึกว่าการเขียน content  สนุกดี  แม้จะเป็นแค่ตัวอักษรที่กระจายไปในโลกออนไลน์แต่ก็ค่อนข้างมีผลที่ดีต่อแบรนด์ที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นแบรนด์ขายเครื่องดื่ม

 


คุณชนิสรา เล่าต่อไปอีกว่า  ตอนเริ่มต้นงานก็ไม่เข้าใจว่า ลูกค้าต้องการอะไร เพราะบริษัทมอบมาให้ทำ  ซึ่งคุณอูนมองเห็นว่าการจะเขียน content จะต้องมี  consumer insight ต้องมีความรู้ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ชอบอะไรมีฐานข้อมูลบ้างในแต่ละวัน  ก็จะสนุกกับการหาข้อมูลตรงนั้น พอรู้ว่าผู้บริโภคชอบอะไร ก็หาข้อมูลแล้ว ครีเอท ข้อมูล ออริจินอล content  ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากการแชร์จากที่อื่น ๆ เพราะถ้าแชร์มาจากที่อื่นก็จะกลายเป็น second hand content มันจะไม่เหมือน ออริจินอล content  ที่เราเขียนด้วยมือ

 

“เมื่อมีลูกค้าถูกใจ มี feedback ที่ดีจากในโลกออนไลน์ เราก็สนุกกับการค้นหาข้อมูลของผู้บริโภค ว่าลูกค้าชอบอะไรมีวิถีชีวิตแบบไหน และพอจบจากฝึกงาน ด้วยความที่ยังสนุกกับการเขียน content และทางบริษัทเห็นถึงความสามารถจึงจ้างมาทำงานต่อ เหมือนเป็นเด็ก  freelance ที่ทำงานที่บ้าน พองานเสร็จ ส่งงานไปทางอีเมลให้บริษัท  บริษัทโอเคก็จะได้เงินก้อนมาใช้ต่อเดือน” คุณอูน เล่าถึงการทำงานอย่างสนุกสนาน  

 

คุณอูน ยังเล่าต่อไปอีกว่า ครอบครัวจะมีความคิดว่าตอนเข้ามหาวิทยาลัย ทุก ๆ คณะจะมีกิจกรรม มีงานวิชาการ ก็ให้ไปหาก่อนว่าชอบอะไร ถ้าไม่ชอบก็ค่อยออกมา หรือถ้าชอบก็ค่อยไปเจาะจงด้านนั้น ส่วนตัวนั้นโชคดีที่ชอบเรื่องการสื่อสารการตลาดจึงอยู่คณะนิเทศศาสตร์ต่อ  แต่ตอนที่เลือกไม่ได้คิดว่าจะโตไปเป็นอะไร คิดแค่ว่า อยากพัฒนาความรู้ด้านนี้ก็เลยบอกพ่อแม่ว่าชอบด้านนี้

 

เมื่อถามถึง Diamond  grains  คุณอูน อธิบายว่า คือ grains dora cereal เป็นอาหารคลีน ไม่มีแป้งขัดสี ไม่มีน้ำตาลขัดสี จะแบ่งเป็นถ้วย สำหรับคนที่ไม่มีเวลากินของดี ๆ ก็หยิบมาถ้วยหนึ่ง แล้วก็เข้าร้านสะดวกซื้อกินคู่กับนมกับโยเกิร์ตอร่อยอิ่มไปถึงเที่ยง  เริ่มธุรกิจ จากที่เป็นคนชอบรับประทานอาหารซึ่งคงเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปที่ชอบรับประทานหรือชอบอะไรสักอย่างก็อยากจะทำงานอะไรสักอย่างที่ตัวเองชอบ ตอนแรกอยากทำธุรกิจเปิดร้านน้ำ เพราะคิดว่าในตลาดคนเปิดร้านน้ำเยอะแยะเราก็น่าจะเปิดได้  แต่พอกลับมาคิดว่า ถ้าเกิดเราลงทุนกับธุรกิจร้านน้ำไปจริง ๆ เราจะไม่มีวันเป็นเจ้าแรกได้เลย มันจะกลายเป็นแค่อีกหนึ่งเจ้าเท่านั้น แล้วเมื่อไหร่เราจะกลายเป็นเจ้าแรกในตลาด แล้วลูกค้าคงจะคิดว่าเราเป็นเจ้าที่เท่าไหร่ ที่หนึ่งจริงหรือเปล่า หรือคิดว่าเป็นร้านน้ำธรรมดาก็แค่กินกันตาย

           

“มองที่จุดใหม่ว่า จะทำสิ่งที่เราคิดว่าดีอย่างเดียว ไม่ได้แล้ว ก็เริ่มศึกษาข้อมูลในต่างประเทศ ซึ่งด้านสุขภาพเริ่มมาแรง แต่ในประเทศไทยตลาดสุขภาพถือว่ายังมีคู่แข่งน้อย จึงเห็นว่าตลาดสุขภาพในกลุ่มวัยรุ่นยังมีช่องอยู่ จึงมาปรึษากันว่า ลองมาทำอะไรที่อร่อย แต่ต้องดีต่อสุขภาพ ซึ่งความยากคือจะไม่มีตลาดรองรับ เสี่ยงมาก แต่ถ้าทำสำเร็จมันก็คุ้ม แต่ด้วยความที่ธุรกิจนี้เป็น  First  mover มันก็ต้องเสี่ยง เสี่ยงทั้ง Test  Demand ของลูกค้าแล้ว ก็เสี่ยงทั้งเรื่องของการลงทุน แต่ว่าการลงทุนยังไม่หนักเท่า Demand ของลูกค้าเพราะ ถ้าลงทุนไปถูก Demand เลยมันก็ง่าย แต่การหาความแปลกใหม่มันยาก เหมือนเมื่อก่อนเราก็เข้าใจว่าคนชอบกินคุกกี้ เราก็ทำคุกกี้ขึ้นมา โดยคิดว่าคนที่ชอบคุกกี้ต้องมาหาแน่ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น  ทำออกมาเพื่อนบอกว่ามันอร่อยแต่เอาไปขายกลายเป็นว่าขายไม่ได้ ตอนนั้นเข้าใจว่าเราต้องให้ร้านช่วยขาย ผ่านร้านค้าเหมือนอบขนมเสร็จให้แล้วเอาไปให้ร้านค้า ตอนนั้นเข้าใจว่าร้านค้าคือลูกค้าแต่ลืมไปว่าร้านค้าไม่ใช่ลูกค้าเรา ลูกค้าเราคือลูกค้าที่ซื้อจากร้านค้าและเมื่อไหร่ที่ร้านค้าไม่เชื่อเราว่าเราสามารถขายได้ เขาจะไม่รู้สึกอยากเอาของเราไปขาย”

 

คุณอูน เล่าถึงการทำงานต่อไปว่า ตอนนั้นเราก็ขอลองวางขายก่อนโดยไม่เก็บเงิน แต่ด้วยความที่ไม่ดังและหน้าตาของคุกกี้เป็นธัญพืช คนก็คิดว่ามันไม่อร่อยและไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกอยากลอง ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า เพราะเราคิดแค่ว่าเราทำในสิ่งที่อยากทำ และคิดว่ามันจะขายได้ เราไม่ได้ทำเพราะเรารู้สึกว่าลูกค้าจะอยากได้ ยอมรับตอนนั้นถึงขั้นท้อเหมือนกัน ไม่เข้าใจ ทำไมสินค้ามันก็ดีต่อสุขภาพมากแต่ทำไมถึงไม่กินแต่เราก็เริ่มปรับตัว นำมา 4P (Price  Place  Product  Promotion) มาใช้ จนออกมาเป็น Diamond grains

           

สำหรับชื่อ Diamond grains คุณอูน อธิบายว่า มาจากเพชรที่ผ่านประสบการณ์  ผ่านความยากลำบากและผ่านกระบวนการกว่าจะมาเป็นเพชร  Diamond grainsนั่นเอง ตอนนั้นจะทำ Diamond grains เพื่อคนรักสุขภาพ แต่กลายเป็นว่ามันอร่อยแล้วคนที่ซื้อไปเอาไปแบ่งคนอื่น เพื่อน ญาติพี่น้อง คนกลุ่มที่ได้ลองกินบอกว่าอร่อยและซื้อไปกิน จึงกลายเป็นว่าคนอร่อยโดยที่ไม่ต้องคิดมากเรื่องน้ำหนักและสุขภาพ

 

เมื่อถามถึงปัญหาของ Diamond grains คุณอูน ยอมรับว่า เคยเจอปัญหาช่วงแรก ตอนนั้นยังไม่มีเว็บไซต์สำหรับการสั่งซื้อ เวลาคนจะสั่งซื้อต้องทำระบบผ่านไลน์ แต่วันหนึ่งคนสั่งเข้ามาเยอะจนไลน์ล่ม  ข้อมูลและที่อยู่ที่ต้องส่งของหายหมด ก็ต้องแก้ปัญหาหน้า และหลังจากนั้น จึงเริ่มทำเว็บไซต์รองรับการสั่งซื้อ มีระบบเก็บข้อมูลลูกค้าและมีระบบการสั่งซื้อในเว็บไซต์เพื่อความสะดวกในการรวบรวมข้อมูลลูกค้าและมีการเพิ่มระบบ เก็บคะแนนสะสมเพื่อเป็นส่วนลดได้อีกด้วย

 

 

คุณอูน เล่าด้วยความภาคภูมิใจ ว่า Diamond grains เริ่มต้นจากการที่มีลูกค้าสั่งออเดอร์เล็ก ๆ แล้วเกิดการกระจายต่อ  แต่ความที่สินค้าเป็นถ้วยเล็ก ๆ จากในบริษัทหนึ่งสั่งคนหนึ่งก็กลาย 2 คน 3 คน และสาเหตุที่สั่งสินค้า Diamond grains เกิดจากปัจจัย 3 ข้อ คือ สามารถควบคุมน้ำหนักได้  ทำให้ขับถ่ายง่าย และสะดวกกินง่าย เหมือนกับว่าเมื่อเราฟังลูกค้ามากขึ้นก็สามารถพัฒนาสินค้าได้มากขึ้นเช่นกันทำให้รู้ว่าเราต้องทำอะไรต่อไป จากตอนแรกที่ทำธุรกิจเพราะอยากมีชื่อเสียง อยากได้กำไร ทำให้ไม่มีความสุขกับการทำงาน รู้สึกเหนื่อยที่ต้องตื่นมาหากำไร แต่พอเราเปลี่ยนความคิดว่าเราอยากเจอลูกค้า อยากตอบโจทย์ลูกค้า ไม่ใช่เพราะอยากได้เงิน พอคิดแบบนั้นได้มันเริ่มสนุกกับการทำงาน ได้ประสบการณ์ และสามารถทำให้ลูกค้าที่ไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพหันมากินอาหารธัญพืชของเราได้ถึง 80%

 

ส่วนเรื่อง Packaging ของ Diamond grains คุณอูน อธิบายว่า จะคิดถึงความสะดวกของลูกค้า ซึ่งเริ่มต้นยังไม่มีงบประมาณมากพอจึงใช้ถ้วยซีลธรรมดา และทำถ้วยใสให้เห็นเนื้อสินค้า แต่ข้อเสียคือทำให้แกะสินค้าค่อนข้างยาก ซึ่งเราบรรจุในกล่องไปรษณีย์ที่สกรีนลายสวยงาม แต่พอมาถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่า มันควรจะมีข้อมูลของสินค้าอยู่บนฝาถ้วยจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้า พอเปลี่ยนรูปแบบสินค้าก็มี ร้านเกี่ยวกับสุขภาพแล้วก็มี  top supermarket เข้ามาติดต่ออยากเอาของไปขายเพราะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าของได้ด้วย ถือเป็นเรื่องดีที่เราก็สามารถเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มยอดขายได้อีกด้วย

 

ทำให้รู้ว่าที่ทำ…ทำเพราะอะไร ตอบโจทย์อะไรให้ลูกค้าได้บ้าง แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี และเชื่อเถอะมันจะทำให้คุณสนุกไปกับงานนั้นเองคุณอูน-ชนิสรา กล่าวทิ้งท้าย ฝากไว้สำหรับคนที่จะเริ่มคิดฝันจะมีธุรกิจของตัวเอง

 

เรื่อง : รัชชานนท์  จิรเกษมพันธุ์

เรียบเรียง : อริสรา ประดิษฐสุวรรณ 

เข้าชม 285 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม