เมื่อแม่ค้าขายอาหารทะเลสด ต่อยอดทำกิจการส่งอาหารถึงที่ ลูกค้าถล่มทลายอย่างไร อ่านเลย

“เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery”
 
การขายของออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำมาหากินที่หลายคนอาจคิดว่าสะดวก เข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็วและง่ายดาย  และเจ้าของธุรกิจหลายต่อหลายคนอาศัยช่องทางออนไลน์กอบโกยเงินก้อนโตได้ดีทีเดียว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเริ่มต้นด้วยความสำเร็จ วันนี้ (25 พ.ค.2559) รายการ CEO VISION จะพาไปร่วมเรียนรู้ประสบการณ์จากชีวิตของเจ้าของธุรกิจ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” ซึ่งปัจจุบัน คุณสุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ สามารถขายอาหารทะเลบนโลกออนไลน์ สร้างรายได้กว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน
                
คุณสุรีรัตน์ เริ่มต้นเล่าถึงธุรกิจว่า  เป็นการเริ่มต้นจากความผิดพลาด หรือความล้มเหลวของธุรกิจ ก่อนหน้านี้ เธอมีความฝันอยากทำธุรกิจส่วนตัว ก็หาตลอดเวลาว่าจะทำธุรกิจอะไร ลองคิดดู แต่ทางบ้านมีกิจการแพ ที่เลี้ยงปูม้า และกุ้ง จึงลองคิดเรื่องอาหารทะเลไปเสนอขายร้านอาหารหรือว่าโรงแรมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ประมาณ 4 ปี ทำไปได้เรื่อย ๆ ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่งธุรกิจมีปัญหาตีคืนวัตถุดิบ เพราะวัตถุดิบที่สั่งไป กลับรับไม่ตรงกับที่จองไว้ เช่น  ซื้อ 50 กิโลกรัม แต่รับแค่ 30 กิโลกรัม โดยให้เหตุผลว่า ขายไม่ค่อยดีเหตุผลมากมาย  แต่ถ้าจะให้ลงของทั้งหมดต้องลดราคาให้ ก็ทำให้เป็นปัญหาเรื่องวัตถุดิบเหลือ จนขาดทุนไปเรื่อย ๆ สุดท้ายรู้สึกว่ามันน่าจะไม่ใช่ทางนี้  เริ่มขาดทุนสะสม 
 
“เราไม่ยอมลดราคาก็เลยนำมานึ่งเองที่ออฟฟิศ แจกเพื่อน ๆ เหมือนเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พอเหลือก็นึ่งกินไป แต่พอนาน ๆ เข้า ก็เริ่มขาดทุนหนักกว่าเดิม แต่ด้วยความที่เป็นคนมองหาโอกาสตลอดเวลา เลยทำให้มองว่าโอกาสเล็ก ๆ จากเพื่อนร่วมงาน ที่ถามว่าหากเขาซื้อจะขายไหม วันนี้ไม่มีปูหรอ แม่ฝากมาซื้อ จึงเกิดเป็นไอเดียเล็ก ๆ ว่ามันขายได้ ขายสดได้  จึงทำให้กลับมานั่งคิด ว่าเราจะขายอย่างไร เมื่อตอนนั้นเราทำงานประจำอยู่ ถ้าเปิดร้านอาหารจะเป็นอย่างไร และตอนนั้นสถานการณ์การเมืองก็ยังไม่นิ่ง คิดไปคิดมาจัดส่งถึงบ้านดีกว่าหรือไม่ เพราะตอนนี้ก็รู้ว่า product เราขายได้แน่ ๆ เราก็เริ่มหาวิธีว่าจะขายไปในทางไหน ก็สำรวจตลาดว่ามีใครขายอยู่ไหม ขั้นตอนการขาย Delivery เป็นอย่างไร จึงเริ่มทำ”
 
เมื่อถามถึงการสำรวจตลาด คุณสุรีรัตน์ เล่าว่า  ตอนสำรวจพบว่าปูม้าในตลาดมีคนรับประทาน  แต่หากจะรับประทาน 1.ต้องไปร้านอาหาร  2.ต้องไปทะเล  3.ไปตลาดสด  ซึ่งปูม้าเป็น ๆ ที่หาสด ๆ จะค่อนข้างราคาสูงมาก ถ้าให้สะดวกคือ ส่งถึงบ้าน ก็เริ่มคิดในตอนนั้น ง่าย ๆ ใช้วิธีการเก็บปูเป็น ๆ มาแล้วนำมานึ่งตามที่ลูกค้าสั่งแล้ว จากนั้นก็จ้างวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปส่งลูกค้าตามสั่ง  เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษก แต่จริง ๆแล้วก็เริ่มต้นส่งแล้วแต่ลูกค้าสั่ง คือหมายถึงว่า เราก็ส่งทั่วไปแล้วแต่ลูกค้า เพราะตอนนั้นการตอบรับของลูกค้ายังไม่หนาแน่นพอ  ตอนนั้นไม่เกี่ยงจะส่งที่ไหนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
 
“วันแรกจำได้ว่าขายปูได้ 15 กิโลกรัม ถือว่าเยอะอยู่ เพราะเราคิดว่าทำอย่างไรให้วัตถุดิบที่เหลือ จากร้านอาหารปฏิเสธ นำมาขายได้แค่นั้นเอง เราคิดแค่ว่าถ้ามีปูเหลือมาจากร้านอาหารที่เราไม่ต้องลงราคาให้เขา 10 โล 15 โลที่ขายไปตรงนั้น” คุณสุรีรัตน์ เล่าต่อไปอีกว่า 
 
สำหรับการประชาสัมพันธ์ คุณสุรีรัตน์ อธิบายว่า ไม่ได้เริ่มต้นจากโซเชียลมีเดีย ตอนแรกใช้วิธีแบบ OF LINE โฆษณาผ่านใบปลิว แจกใบปลิว เลือกตรงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีห้วยขวาง ใกล้บ้าน และสถานีนี้คนเยอะ ตอนเย็นเราจะถือใบปลิว 4,000 ใบแจกก่อนไปทำงานช่วงเวลา 07.00-07.30 น. แล้วนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน พอตอนเย็นก็คิดว่าตรงไหนที่คนเยอะจะแจก ก็คือ สถานีสุขุมวิท ทางเชื่อมระหว่าง MRT กับ BTS แต่กลับไม่มีผลตอบรับเลย  จึงเดินสำรวจแถวรัชดาฯ ว่าร้านไหนคนนั่งเยอะ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ขออนุญาตนำในปลิวมาวาง  ร้านเสริมสวย ร้านต่าง ๆ เราก็ขอวางใบปลิว จนเริ่มมีการตอบรับกลับมาบ้าง 
 
“การทำใบปลิวเราไม่ก็ท้อ ยังใช้วิธีนำใบปลิวแปะซองทิชชูนำไปแจกที่สถานีรถไฟฟ้า แต่การประชาสัมพันธ์แบบ OF LINE มันไม่ทันใจ จึงเปลี่ยนมาเป็นประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดีย  ทำแฟนเพจ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” เริ่มขายผ่านทางแฟนเพจ พอเริ่มทำแฟนเพจ ก็ยังไม่มีคนมากดไลค์ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมากดไลค์ การกดไลค์ หรือการแชร์แฟนเพจออกไปก็เหมือนการแจกใบปลิว ตอนนั้นจึงไปศึกษาดูจากเพจดัง ๆ เช่น เพจคุณตัน อิชิตัน ที่เห็นการแจกแบบอลังการมาก จึงคิดว่า การที่เราขายปูได้ 15 กิโลกรัมเราแจกขนาดนั้นไม่ได้ แต่เราอยากแจก จึงคิดว่า ลองให้กด LIKE &SHARE คนที่กด LIKE คนที่ 100 จำนวน 1 กิโลกรัม เมื่อแจกจริง จึงเกิดการพูดต่อ มีการแชร์กันต่อไป มันได้ผล” 
 
คุณสุรีรัตน์ เล่าต่อไปว่า  จากนั้น ทำ Like&Share แจกตุ๊กตาเฟอร์บี้ ซึ่งตอนนั้นกระแสเฟอร์บี้กำลังมา ทำให้แฟนเพจขึ้นมาจากหลักร้อยเป็นหลักพันและหลักหมื่น  ปัจจุบันมียอดไลค์ถึง 620,000 ไลค์ มันใช้ได้อยู่ต่อมา เราทำ Like&Share แจกทัวร์ไปเกาหลีใต้  แฟนเพจถูกแชร์ออกไป ด้วยความที่สินค้าเรามันแปลกคนที่ซื้อไปก็รีวิวให้  ยอดจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  สื่อมวลชนเริ่มสนใจ มาสัมภาษณ์ พอออกสื่อเพิ่มขึ้น ยอดไลคฺในแฟนเพจก็ยิ่งเพิ่มขึ้น 
 
เมื่อถามถึงอุปสรรคปัญหา คุณสุรีรัตน์ เล่าว่า เวลาจะแจกของรางวัล หรือแจกโปรโมชั่นให้อิงกระแสเป็นหลัก อย่าไปเสียดายหรือคิดว่าจะทำกำไรได้หรือไม่ จะขาดทุนหหรือไหม ถ้าคิดจะแจกก็แจกไปเลย  ส่วนเรื่องปัญหาการใช้โซเซียลมีเดีย ยอมรับว่า มีปัญหาเพราะว่า ตนเองก็ยังใช้ไม่เป็น ตอนนั้นไม่มีหนังสือ จำได้ว่าครั้งแรกเปิดเฟซบุคชื่อ “เจคิว ปูม้านึ่ง” เราก็ไล่แอดเพื่อน 100 คนต่อวัน โดนเฟซบุคบล็อกไป 15 วัน เพราะไม่รู้กฎระเบียบ ต่อมาก็เริ่มเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จากหนังสือ ก็ทำให้ช้าไปเหมือนกัน แต่ถ้าถามถึงวิกฤตเรื่องการขาย ก็จะเป็นเรื่องวัตถุดิบที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
 
คุณสุรีรัตน์ เล่าต่อไปอีกว่า  ตั้งเป้าไว้ที่เดือนละ 3 แสนบาท ก็เริ่มจ้างพนักงานมา 1 คนเพื่อให้ขายในมื้อเที่ยงด้วย เพราะเราทำงานประจำ และเริ่มคิดขยายสาขา เริ่มที่ฝั่งธนฯ  ลูกค้าฝั่งธนฯ ก็สั่งบ่อยขึ้น เพราะค่าจัดส่งถูกกว่าสั่งจากรัชดาฯ จากนั้นก็ขยายไปอีก 4 สาขา คือ สุขุมวิท 101 รามอินทรา สุวรรณภูมิ และ จ.นนทบุรี  สำหรับปัจจุบัน ได้ขยายไปทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งสาขาดอนมือง  ประเวศ  ทองหล่อ ประตูน้ำ รามคำแหง ลาดพร้าว ลาดกระบัง สำโรง บางบัวทอง รวม19 สาขา โดยไม่มีหน้าร้าน สำหรับค่าจัดส่งก็เป็นปัญหาของลูกค้าเอง  ค่าส่งถูกลง ก็ทำให้ลูกค้าในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น  
 
เมื่อถามถึงความคิดเปิดหน้าร้าน คุณสุรีรัตน์ ยืนยันว่า  ทำในทางที่เราถนัดดีกว่า  การมีหน้าร้าน ต้นทุนสูงขึ้นมาเกิน 50%  และเราไม่ถนัด หน้าร้านมีปัจจัยเยอะ ทั้งทำเล ที่จอดรถ พนักงานเสิร์ฟ การตกแต่งร้าน จึงเลือกทำในสิ่งที่เราถนัดดีกว่า 
 
คุณสุรีรัตน์ แนะนำถึงการประชาสัมพันธ์ธุรกิจทางโซเชียลมีเดียว่า เวลาทำธุรกิจ อย่าง เจคิว ปูม้านึ่ง ก็เริ่มต้นง่ายมาก แค่มีปู  เอาปูมานึ่ง มีวินมอเตอร์ไซค์ ให้มาส่งถึงบ้าน แล้วเก็บเงิน แต่ในระยะยาวเราต้องมีกลยุทธ์ ต้องมีการวางแผน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด เราเริ่มต้นด้วยเงินแค่ 3 หมื่นบาทในเวลาที่จำกัดคือทำงานประจำด้วย จึงต้องมีกลยุทธ์ตลอดเวลา จึงอยากฝากถึงคนที่อยากทำธุรกิจ ว่าอย่าทำตาม ๆ กันไป ลองพลิกความคิด ให้มันต่างจากคนอื่น  ถ้าเราทำตามคนอื่นมันก็เหมือนกันไปหมด  บางครั้งความต่างจะทำให้คนจดจำเราได้ อยากให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ มองหาว่าเราจะต่างไปทางด้านไหน เราจะต่างทางการส่ง ต่างทางอาหาร หรือต่างการ packaging หรือจะต่างทางการสั่งซื้อ คือให้มองหาจุดต่างของเราให้เจอแล้วเราก็จะโดดเด่นขึ้นมาเหนือคนอื่น
 
คุณสุรีรัตน์ เผยต่อไปอีกว่า ปัจจุบัน  “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” ใช้ระบบโทรศัพท์แบบคอลเซ็นเตอร์ ที่02-105-4205 เบอร์เดียวทุกสาขา เพื่อให้เกิดความสะดวกสะบายกับลูกค้ามากขึ้น และห้ามหยุดพัฒนา เราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองต่อลูกค้า ต้องมองตัวเองเหมือนกับเราเป็นลูกค้า นอกจากนี้ ยังมี instagram และ Line เพราะโซเซียลมีเดียทุกประเภททำให้ลูกค้ารู้จักเรามากขึ้น และจะต้องมีแอดมิน คอยตอบคำถามลูกค้าตลอด  เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
 
“เราใช้โซเชียล รวมถึงการรับออร์เดอร์ ก็เหมือนการทำร้านอาหารทั่วไป เราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า ก่อจะโพสต์ต้องคิดก่อน  ต้องมีความชัดเจน ทั้งขนาด ราคา น้ำหนัก ต้องให้เข้าใจทางเดียวเท่านั้น เวลาที่ลงรูปควรที่ลงแบบพอดีห้ามโอเวอร์เกินไป เราจะถ่ายจากรูปอาหารจริง ต้องเน้นถึงความอร่อยและคุณภาพเป็นหลัก” คุณสุรีรัตน์ ยืนยันหนักแน่น
 
คุณสุรีรัตน์ ทิ้งท้ายไว้ว่า อยากเป็นครัว อยากเป็นร้านอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่ได้มาตรฐาน การบริการ การจัดส่งที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะพัฒนาอยู่ตลอดเวลา  ในอนาคต “เจคิว ปูม้านึ่ง” จะขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น ตามต่างจังหวัด ทั้งภาคกลาง อีสาน เหนือ ใต้  
 
เรื่อง  :  จิรารัตน์  วรรณี 
เรียบเรียง : อริสรา ประดิษฐสุวรรณ
 
เข้าชม 11 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม