โจ้ สุธีศักดิ์ น้ำตาไหล ภูมิใจเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์สากล คนที่ 2 เผยได้ยาก เพราะต้องรู้ลึกศาสตร์ที่แท้จริง

จากคำดูถูกว่าเป็นแค่การเต้นกินรำกิน สู่ความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล “ภักดีเทวา” สำหรับ โจ้ สุธีศักดิ์ ที่ล่าสุดได้เปิดใจกับไนน์เอ็นเตอร์เทน ถึงความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต หลังได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) ประจำปี พ.ศ.2566 โดยเผยว่าครั้งแรกที่ได้รับสายโทรศัพท์ยอมรับว่าและน้ำตาไหล ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ ต้องบอกว่าสาขานาฏศิลป์สากล เป็นสาขาที่ได้ยากมาก เพราะไม่มีใครที่จะเรียนรู้ถึงศาสตร์ลึกที่แท้จริงของนาฏศิลป์สากล ส่วนใหญ่เพียงแค่เรียนเพื่ออยากจะแข่งขันในด้านต่าง ๆ แต่ไม่ได้เรียนลงลึก และก่อนหน้านี้นาฏศิลป์สากลยังไม่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย จะโดนมองว่าเป็นการเต้นกินรำกิน แต่ปัจจุบันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านาฏศิลป์สากลก็สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ และสร้างนักออกแบบท่าเต้น อาจารย์ที่ดีสู่สังคมได้ และนับตั้งแต่มีการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลเป็นศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2528 ตนเป็นคนที่ 2 ที่ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขานาฏศิลป์สากล เพราะเป็นสาขาที่พิจารณายากมาก ๆ และถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของชีวิต


การได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล “ภักดีเทวา” เพราะตั้งแต่รุ่นคุณปู่คือคุณครูยอแสง ภักดีเทวา เป็นโขนที่อยู่ในสังกัดของกรมศิลปากร นับ 100 กว่าปีที่ยังคงเป็นต้นแบบของโขนให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน คุณย่าผู้ที่สำคัญที่สุดคือคุณย่าทอง หรือ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต เป็นนักแสดงที่มีฝีมือช่ำชอง และได้รับการยอมรับทั่วทุกแห่ง และสุดท้ายคุณพ่อ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ที่หลายคนรู้จักกันในนามนักร้องเพลงลูกกรุง ทั้งสามท่านเป็นบุคคลที่สร้างชื่อเสียงด้านการแสดงและดนตรีมาโดยตลอด แต่ไม่มีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ พอถึงวันนี้ตนซึ่งเป็นรุ่นที่สามที่สืบทอดศิลปะเหล่านี้มา ได้รับการมองเห็นจากกระทรวงวัฒนธรรมก็รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ โจ้ ยังเล่าต่อว่า การได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ เป็นเหมือนไฟในการตั้งใจทำสิ่งดี ๆ สู่สังคม เพราะตั้งปณิธานกับตัวเองว่า หลังจากนี้คือการมอบความรู้ที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่เริ่มเต้นตอนอายุ 16 ปี จนปัจจุบันอายุ 65 ปี ผันตัวมาเป็นนักออกแบบท่าเต้น และครูที่ส่งต่อความรู้ให้แก่เด็กยุคใหม่ ยิ่งปัจจุบันนาฏศิลป์สากลก็ได้รับการยอมรับในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้เห็นความหลากหลาย ไม่อยากให้มองว่านาฏศิลป์สากลเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบของดนตรี เพราะกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ การเรียนรู้พื้นฐานการเต้นก็ต้องเสียสละร่างกาย อย่างเด็กรุ่นใหม่บางคนก็มีปัญหาสุขภาพตามมา เพราะการที่จะเต้นแล้วสื่ออารมณ์ให้คนดูเข้าใจแทนคำพูดเป็นสิ่งที่ยาก ดีใจที่เป็นเหมือนคนเปิดประตูให้หลาย ๆ คนเข้าใจนาฏศิลป์สากลมากยิ่งขึ้น หลังจากนี้ก็จะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ และต่อยอดการเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นแบบอย่างที่ดีและทำงานทุ่มเทเพื่อชาติต่อไป . -ไนน์เอ็นเตอร์เทน


เข้าชม 170 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม