“ตู่ นพพล – ครูสลา” ได้รับยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” 2564

วันที่ 27 เมษายน 2565 “กระทรวงวัฒนธรรม” ได้ประกาศรายชื่อ “ศิลปินแห่งชาติ” พุทธศักราช 2564 จำนวน 12 ท่าน จาก 3 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์, วรรณศิลป์ และ ศิลปะการแสดง โดยผู้ได้รับรางวัลใน “สาขาทัศนศิลป์” จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย), ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์), ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) และ นายมีชัย แต้สุจริยา (ทอผ้า)
“สาขาวรรณศิลป์” มีจำนวน 2 ท่าน คือ นางนันทพร ศานติเกษม เจ้าของนามปากกา “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” และ นายวิชชา ลุนาชัย นามปากกา “ประชาคม ลุนาชัย” สำหรับ “สาขาศิลปะการแสดง” มีจำนวน 6 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา), นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช), นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย – โขน ละคร), ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล – ประพันธ์เพลงคลาสสิก), นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) และ นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)
ซึ่งคนบันเทิงที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา ก็ได้แก่ “สลา คุณวุฒิ” ครูเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังผู้ปลุกปั้นนักร้องลูกทุ่ง และมีผลงานการประพันธ์ที่โด่งดังมากมาย เช่น กระทงหลงทาง, จดหมายผิดซอง, ปริญญาใจ, เหนื่อยไหมคนดี, ยาใจคนจน, กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง, รองเท้าหน้าห้อง, ต้องมีสักวัน, ใจสารภาพ ฯลฯ “ตู่ นพพล” นักแสดงและผู้กำกับฯ ระดับแถวหน้าของวงการ มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในฐานะนักแสดงและผลงานการกำกับฯ ไม่ว่าจะเป็น สี่แผ่นดิน, เก้าอี้ขาวในห้องแดง, อีพริ้งคนเริงเมือง, น้ำตาลไหม้, สายโลหิต, กนกลายโบตั๋น, ลอดลายมังกร, หงส์เหนือมังกร, สุดแต่ใจจะไข่คว้า, โสมส่องแสง, เก็บแผ่นดิน, บ่วงบรรจถรณ์, แม่อายสะอื้น, สายน้ำสามชีวิต ฯลฯ ส่วนผลงานของ “นันทพร ศานติเกษม” หรือ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” ก็ถูกนำมาสร้างเป็นละครจำนวนมาก อาทิ ตะวันทอแสง, รากนครา, ทรายสีเพลิง, เรือนศิรา, ใต้ร่มไม้เลื้อย, ดอกไม้ในป่าหนาว เป็นต้น
โครงการศิลปินแห่งชาติเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ และมีศิลปินแห่งชาติ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 – 2564 รวมทั้งสิ้น 343 คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ 174 คน เสียชีวิตไปแล้ว 169 คน .-ไนน์เอ็นเตอร์เทน



เข้าชม 330 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม