ฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยไม่ใช่แค่หมอกจางๆ และควันธรรมดา แต่เป็นอากาศขั้นวิกฤตที่คนไทยต้องเผชิญกับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน โดยกรมควบคุมมลพิษเผยว่าได้มีการวัดระดับคุณภาพอากาศมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งพบว่าช่วงกลางเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมีนาคม จะมีฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมาก เนื่องจากมีความกดอากาศต่ำ ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายออกไปจากพื้นที่ได้ จึงวนเวียนอยู่ในอากาศที่ทุกคนหายใจเข้าไปนั่นเอง
โดยสภาพอากาศแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ดีมาก, ดี, ปานกลาง, เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษพบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลบางพื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ซึ่งมีข้อมูลจากนักเทคนิกการแพทย์ชื่อดังว่า สาเหตุหลักมาจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้า การก่อสร้างต่างๆ และควันจากท่อไอเสียรถ โดยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าอากาศจะกลับมาเป็นค่าปกติเมื่อไหร่ ที่ทำได้ตอนนี้คือการดูแลตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย N95 ที่ป้องกัน “ฝุ่น PM2.5” ได้
นอกจากนี้ยังสามารถหลีกเลี่ยงฝุ่นได้จากการปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และลดการใช้รถยนต์ รวมถึงการเผาขยะ โดยกรมควบคุมมลพิษ มีสถานีตรวจสอบสภาพอากาศทั่วประเทศ 66 สถานี และทำการตรวจสอบทุกวัน สามารถอัพเดทสถานการณ์ด้านสภาพอากาศได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th และ application : air4thai