วันนี้ (8 ต.ค. 62) เวลา 13.00 น. นายพีรพัฒน์ สวัสดิ์มูล หรือ พี สะเดิด พร้อม นายเกรียงศักดิ์ กังวานวงศ์ ทนายความส่วนตัว เดินทางมาร้องทุกข์ กับ พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก. ปอท. และ ร.ต.อ. เปตอง ด่านปรีดา รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก. ปอท. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. หลังมีผู้ไม่หวังดีกล่าวหา “พี สะเดิด” ในสื่อโซเชียล อ้างว่า การจัดทัวร์คอนเสิร์ตในต่างประเทศ โดยใช้ชื่อโครงการ “สืบทอดศาสนา สืบสานวัฒนธรรมไทย” เพื่อนำเงิน ไปสร้างวัดไทย และบำรุงศาสนาพุทธในต่างแดนเป็นการทำเพื่อบังหน้า แท้จริงเป็นการหารายได้ให้ตัวเองเท่านั้น
โดยพี สะเดิด เผยว่า โครงการดังกล่าวตนริเริ่มทำมาประมาน 7 ปี เพื่อช่วยเหลือวัดและพระที่ขาดแคลนในประเทศและต่างประเทศ ประมาณปีละ 3-4 ประเทศ เช่น ออสเตรีย เกาหลีใต้ ลาว เป็นต้น โดยรูปแบบการจัดนั้น จะมีทั้งการทอดกฐิน จัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมต่างๆ เช่น ขายเสื้อ เตะตะกร้อกับชาวต่างชาติ รำกลองยาว เป็นต้น บางปีก็จะมีเหล่าคนบันเทิงไปร่วมงานด้วยบ้าง อาทิ แพนเค้ก เขมนิจ, ตุ๊กกี้ สุดารัตน์ และอีกมากมาย ซึ่งทุกครั้งที่เดินทางทั้งในและต่างประเทศ จะมีหนังสือและเอกสารเดินทางถูกต้อง ทั้งนี้จะมีเงินส่วนหนึ่งที่ถูกหักหลังจากทำแต่ละโครงการเสร็จประมาน 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อาหาร ที่พัก และค่าเดินทางของทีมงาน
ส่วนการเดินทางเข้ามาร้องทุกข์ต่อ ปอท. วันนี้(8 ต.ค. 2562) เพราะบุคคลปริศนาไปโพสต์ในกลุ่มปิดในเฟซบุ๊กชื่อ Association Solidarite Thaie en France แปลเป็นไทยว่า “สตรีไทยในฝรั่งเศส” ซึ่งมียอดติดตามกว่า 5,000 ราย กล่าวหาว่า ตนโกงเงินการแสดงในโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้ตนรู้สึกเสียใจมาก และบั่นทอนจิตใจ ทั้งคนและทีมงานจิตอาสาทุกคนที่มาช่วย รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นกับโครงการในวัดต่างๆ ที่ตนกำลังจะเดินทางไปในอนาคต จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการติดต่อไปยังบุคคลที่โพสต์และไม่ทราบว่าอยู่ประเทศไทยหรือนอกประเทศ ที่ผ่านมาทราบเพียงว่า ทำงานในโรงทานที่วัดใดสักแห่งที่ตนเคยไปเล่นคอนเสิร์ตด้วยก็เท่านั้น
โดยพีสะเดิด ยืนยันว่า ไม่เคยคิดจัดโครงการนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่ยอมรับว่าไม่ทราบเรื่องเงินทำบุญแต่ละครั้ง ว่าจะถูกนำยอดเข้าบัญชีวัดหรือบุคคลอื่นก่อน ซึ่งที่ผ่านมาจะมีทีมงานและกรรมการวัดที่จะเห็นยอดทำบุญมาโดยตลอด
ด้าน พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ กล่าวว่า จะเร่งตามตัวบุคคลปริศนาดังกล่าวมาให้ได้โดยเร็ว ซึ่งต้องตรวจสอบชื่อบัญชีเฟซบุ๊กของบุคคลนั้นก่อนว่าเป็นชื่อจริงหรือปลอม และอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ โดยกรณีดังกล่าวเข้าข่ายกระทำผิดในข้อหาหมิ่นประมาท ย้ำฝากถึงบุคคลที่ใช้โซเชียลควรคิดไตร่ตรองก่อนโพสต์และแชร์ การกล่าวถึงบุคคลอื่นในทางลบอาจทำให้ถูกจัดการดำเนินคดีได้.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน