ผลวิจัยชี้ ฮอลลีวู้ดยังกีดกันทางเพศ-สีผิว-เชื้อชาติ

ท่ามกลางการเรียกร้องความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ สีผิว รวมไปถึงค่าเหนื่อย และบทบาทในแวดวงฮอลลีวูด จนกลายเป็นประเด็นดราม่าหลายต่อหลายครั้ง ถึงอย่างนั้นปัญหาโลกแตกที่ว่านี้ก็ดูเหมือนจะยังไปไม่ถึงไหน เพราะผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติในฮอลลีวูด ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย โดย ดร. สเตซีย์ สมิธ ซึ่งเก็บข้อมูลจากหนัง 900 เรื่อง รวมถึงตัวละครที่มีบทพูดกว่า 35,000 คน นั้นพบว่า จำนวนตัวละครเพศหญิงที่มีบทพูดนั้น ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของตัวละครทั้งหมด และจากสถิตินี้เองก็สะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วเรื่องความหลากหลายทางเพศก็แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงตลอด 9 ปี และยิ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลการวิจัยของนักวิชาการคนอื่นซึ่งเก็บข้อมูลในตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1955 ก็ยิ่งชวนให้อึ้งหนักเข้าไปอีก เพราะจำนวนตัวละครเพศหญิงที่บทพูดในยุคนั้น กับทุกวันนี้ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยในแม้จะผ่านมา 60 กว่าปีก็ตาม


และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลลึกลงก็ไปอีก ก็พบว่า สัดส่วนตัวละครผู้หญิง คนต่างชาติ คนพิการ และคนรักร่วมเพศ ก็ไม่สมดุลอย่างเห็นได้ชัดกับภาพรวมของจำนวนประชากรในสหรัฐฯ ที่มีความหลากหลาย ถึงขั้นการวิจัยนี้มองว่า การขาดความหลากหลายทั้งเพศและเชื้อชาตินั้น เป็นเรื่องปกติของฮอลลีวูดไปแล้ว 

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ฮอลลีวูดจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีที่ยืน แถมหนังบางเรื่องในปีนี้ซึ่งมีผู้หญิงเป็นตัวเอกกลับทั้ง Wonder Woman, Girls Trip และ Beauty and the Beast กลับประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ ซึ่งดร. สเตซีย์ มองว่า คนทำหนังในฮอลลีวูด ชวดโอกาสที่กวาดเงินก้อนโตจากหนังลักษณะนี้ เพียงเพราะมองข้ามและไม่ได้เอาจริงจังกับพลังของกลุ่มผู้ชมที่เป็นผู้หญิง รวมถึงกลุ่มคนที่หลากลายด้านเชื้อชาติ


ทั้งนี้ เธอยังยกให้หนังเรื่อง Hidden Figures เป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะหนังเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของหญิงสาวผิวสีผู้ชาญฉลาด 3 คนที่อยู่เบื้องหลังการส่งมนุษย์อวกาศ จอห์น เกล็นน์ เข้าสู่วงโคจร โดยก้าวข้ามผ่านประเด็นเรื่องเพศและเชื้อชาติ แถมตัวหนังยังได้ทั้งเงินทั้งกล่องอีกพร้อมกันนี้ ดร. สเตซีย์ ยังหยิบ Hidden Figures มาเปรียบเทียบกับหนังสงครามเรื่อง Dunkirk โดยเธอมองว่า แม้จะเรื่อง Dunkirk ถ่ายทอดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันเธอเองก็อยากให้ฮอลลีวูดนำเสนอเรื่องราวหรือประเด็นที่มีความหลากหลายเช่นกัน และก็เข้าใจดีว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ต่อเมื่อผู้มีส่วนในการตัดสินใจ รวมถึงนายทุน มองเห็นคุณค่าของเนื้อเรื่องที่จะนำเสนอ ซึ่งไม่ได้ซ้ำจากที่ทำๆ กันมาหลายสิบปี

และจากความสำเร็จของหนังซูเปอร์ฮีโร่หญิงเรื่อง Wonder Woman ผลงานผู้กำกับหญิงเก่ง แพตตี้ เจนกิ้นส์ ที่ช่วยลบอาถรรพ์ของหนังแนวซูแปอร์ฮีโร่หญิงเรื่องก่อนๆ ก็ทำให้ ดร. สเตซีย์ หวังว่า นี่จะเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูด รวมถึงสตูดิโอปรับความคิดความเกี่ยวกับต้นแบบเดิมๆ และนำไปสู่ความหลากหลายมากขึ้น / เพื่อที่ท้ายสุดสื่ออย่าง ภาพยนตร์จะได้ช่วยสอนให้เราเข้าใจ และเคารพผู้อื่นมากขึ้นนั่นเอง

เข้าชม 85 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม