
ในยุคที่โลกเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้เพลงไทยเข้าถึงผู้ฟังทั่วโลกได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำให้การสร้างการรับรู้และยืนหยัดในระดับสากลกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากการตีตลาดฐานแฟนเพลงต่างประเทศไม่เพียงขยายฐานผู้ฟังและเพิ่มรายได้ แต่ยังเปิดโอกาสในการร่วมงานกับค่ายเพลงและศิลปินมืออาชีพระดับโลก พร้อมเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทยผ่านวัฒนธรรมดนตรี ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ดังนั้น การผลักดันศิลปินไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีสากลจึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตัวอย่างความสำเร็จจาก 5 ศิลปินในโครงการ Music Exchange ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ที่ได้รับการสนับสนุนให้ไปแสดงผลงานในเวทีระดับนานาชาติ ยืนยันว่าโอกาสเหล่านี้ไม่เพียงช่วยขยายฐานแฟนคลับ แต่ยังยกระดับวงการเพลงไทยให้เป็นที่ยอมรับและแข็งแกร่งในระดับโลกมากยิ่งขึ้น

ขยายฐานแฟนคลับไร้พรมแดน เมื่อเสียงเพลงไทยก้องกังวานในเวทีนานาชาติ ผลลัพธ์ความสำเร็จภายใต้การส่งเสริมของ CEA คือการผลักดันให้ศิลปินไทยได้มีโอกาสและพื้นที่ในการแสดงผลงานบนเวทีระดับนานาชาติ เพื่อเป็นพลังในการสร้างการรับรู้และขยายฐานแฟนคลับที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยังช่วยให้ศิลปินไทยได้ฝึกพัฒนามาตรฐานของตนเองเมื่อเทียบกับศิลปินระดับโลก รวมถึงรับฟีดแบ็กโดยตรงจากผู้ฟังต่างชาติ ทำให้สามารถนำไปพัฒนาแนวทางการทำเพลงให้สอดคล้องกับตลาดสากลมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในศิลปินคลื่นลูกใหม่ที่สามารถก้าวข้ามบททดสอบและไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีโลก ต้องยกให้ “เกบ วัทคิ่นส์” (Gabe Watkins) ศิลปินลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียที่มีสไตล์เพลงแนวอินดี้ป๊อปสากล ดาวรุ่งมาแรงแห่งค่าย What The Duck ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Music Exchange สามารถพาตัวเองขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศมากมาย อาทิ TMC Christmas Town 2024 ที่ไต้หวัน รวมถึงเทศกาล We Are Tomato Music Festival ที่เวียดนาม และ AXEAN Festival 2024 ที่ประเทศอินโดนีเซีย “การได้ไปโชว์การแสดงที่ต่างประเทศ ให้ความรู้สึกที่สุดยอดมากๆ มันเหมือนความฝันที่เป็นจริง และรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Music Exchange สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากแสดงจบ คือผู้ฟังให้เสียงปรบมือต้อนรับ อีกทั้งแฟนเพลงที่ไม่เคยรู้จักเพลงของผมมาก่อนเริ่มติดตามผลงานของผมมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นโอกาสและกำลังใจที่ดีมาก ๆ สำหรับศิลปินไทย”
จากประสบการณ์ในประเทศสู่การพัฒนาไร้ขีดจำกัด นอกเหนือจากการขยายฐานแฟนเพลงในต่างประเทศแล้ว การที่ศิลปินได้แสดงบนเวทีที่มีผู้ชมต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาทักษะการแสดงและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น เพรทเซล (Pretzelle) ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปจากค่าย 54 ENTERTAINMENT ที่ประกอบด้วย มาธวี รัตนวิจิตร (อิ๊น) อภิศรา ชมภูศรี(เกรซ) และ อัญรินทร์ ชัยอนันต์โสภณ (อุ๋มอิ๋ม) ที่ได้แสดงในเทศกาล TAIPEI CITY IDOL EXPO ที่ไต้หวัน เทศกาล IDOL KINGDOM SHANGHAIที่ประเทศจีน และ เทศกาล HOI Music Festival ที่เวียดนาม ซึ่งเหล่าสาว ๆ เพรทเซล ได้บอกเล่าประสบการณ์ผ่านบทสัมภาษณ์ว่า “การได้แสดงในต่างประเทศทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า ผู้ชมแต่ละที่มีความชอบที่แตกต่างกัน ประสบการณ์เหล่านี้สอนให้เราปรับตัว และเข้าใจว่าการสื่อสารผ่านดนตรีนั้นสำคัญแค่ไหน พวกเราได้ฝึกฝนการสื่อสารกับผู้ชมที่พูดคนละภาษา และเรียนรู้วิธีดึงดูดคนดูให้สนใจในโชว์ของเรามากขึ้น”

สานสัมพันธ์นานาชาติ เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ของวงการเพลงระดับสากล การได้ร่วมไปแสดงบนเวทีนานาชาติผ่านโครงการ Music Exchange ไม่เพียงช่วยให้ศิลปินได้เชื่อมโยงและขยายฐานแฟนคลับในต่างประเทศ แต่ยังเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้สร้างคอนเนกชันกับค่ายเพลงและศิลปินระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทย อย่างผลงานที่โดดเด่นของ 3 สาว ดรีมแกลส์ (DREAMGALS) สมาชิกในวงประกอบด้วย มิลลิ – ดนุภา คณาธีรกุล, ฟาร์-พิชญานิน หนูศรี และ แป้ง – ธนัญญา อินวงษ์ ศิลปินจากค่าย YUPP! ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ได้เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรี Hypefest Hong Kong 2024 ที่ฮ่องกง ในปีที่ผ่านมา โดยได้เผยมุมมองตัวแทนศิลปินไทยว่า “การได้ขึ้นโชว์บนเวทีระดับสากลคือความภาคภูมิใจ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราได้ทำงานร่วมกับศิลปินและโปรดิวเซอร์ต่างชาติที่มีความเป็นมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้มันมีค่ามากๆ ทำให้เราได้เห็นมุมมองและโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกัน ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรี ช่วยให้เราเรียนรู้และพัฒนาแนวทางการทำเพลงให้เข้าถึงผู้ฟังในระดับนานาชาติได้มากขึ้น”
เช่นเดียวกับ มายด์- กษิรา พรนภดล หรือ mindfreakkk ศิลปินอิสระแนวอินดี้ป๊อป ที่ได้ไปแสดงในงาน SXSW SYDNEY 2024 ที่ออสเตรเลีย, Zandari Festa ที่เกาหลีใต้ และ AXEAN Festival 2024 ที่อินโดนีเซีย ได้บอกว่า “หลังจากได้เล่นในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ มีผู้จัดงานหลายแห่งติดต่อเข้ามาเพื่อให้ไปร่วมแสดงในอีเวนต์ของพวกเขา นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ร่วม Music Camp กับศิลปินต่างชาติ ได้ไปทำเพลงร่วมกัน ซึ่งในอนาคตอาจจะมีเพลงใหม่ออกมาจากการที่ได้ไปร่วมด้วย”
สร้างแรงกระเพื่อม Thai Music Wave ตอกย้ำซอฟต์พาวเวอร์ไทยบนแผนที่ดนตรีโลก เมื่อศิลปินไทยได้สร้างเครือข่ายและขยายโอกาสสู่เวทีระดับโลก ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อศิลปินแต่ละราย แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมเพลงไทย โครงการ Music Exchange จึงไม่ใช่แค่สะพานเชื่อมโยงศิลปินไทยกับตลาดสากล แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อน Thai Music Wave ให้ก้องกังวานไปทั่วโลก ตอกย้ำศักยภาพของซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านเสียงดนตรี

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ยลภา (YONLAPA) วงอินดี้ป๊อปร็อกเมดอินเชียงใหม่ ที่สร้างชื่อในเวทีนานาชาติด้วยเอกลักษณ์ทางดนตรีที่แตกต่างและเป็นตัวแทนของซาวด์ไทยยุคใหม่ ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ ยลภา เพียรพนัสสัก (น้อยหน่า) นักร้องนำ และ มือกีตาร์ อานุภาพ เฟยลุง (กันย์) มือกีตาร์ นาวิน รักในศิล มือเบส และชลันธร สุนทรพิทักษ์ (ฟิว) มือกลอง วงนี้โดดเด่นด้วยซาวด์ที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นไทย การแสดงของพวกเขาบนเวทีระดับนานาชาติ อย่าง เทศกาล Baybeats Music Festival 2024 ที่ประเทศสิงคโปร์ เทศกาล SXSW SYDNEY ที่ประเทศออสเตรเลีย และเทศกาล DEFOAMAT ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า “การที่พวกเราสามารถทำให้เพลงของเราเข้าถึงผู้ฟังต่างชาติ โดยไม่ต้องเปลี่ยนสไตล์หรือเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าดนตรีของไทยมีศักยภาพในระดับโลก และเราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Thai Music Wave โครงการนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้แสดงศักยภาพบนเวทีสากล แต่ยังช่วยให้โลกได้เห็นความหลากหลายของเพลงไทยที่ไม่ได้มีเพียงแค่แนวเมนสตรีมเท่านั้น”
จากผลงานข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ความสำเร็จของโครงการ Music Exchange ที่พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรี เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยก้าวสู่เวทีดนตรีระดับโลก ผ่านการแสดงในเทศกาลดนตรีนานาชาติ การสร้างเครือข่ายกับผู้จัดงานระดับสากลและการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากนับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ สามารถผลักดันศิลปินไทยกว่า 48 ราย ให้ได้แสดงใน 46 เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ รวมกว่า 70 โชว์ พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจมากกว่า 300 ครั้ง และเกิดการมองเห็นมากกว่า 30 ล้านครั้ง นอกจากจะช่วยขยายโอกาสให้ศิลปินไทยแล้ว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอิทธิพลทางวัฒนธรรมของประเทศไทยและกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3,000 – 5,000 ล้านบาท และยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมหาศาล “CEA มีเป้าหมายที่จะต่อยอดความสำเร็จนี้ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทั้งการขยายตลาดใหม่ การผลักดันความร่วมมือระดับสากล และการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง รองรับโอกาสในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดนตรีของไทยไม่เพียงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยกระดับศิลปินไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างยั่งยืน” ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าว .-ไนน์เอ็นเตอร์เทน