ผลการศึกษาชี้ คะแนน Rotten Tomatoes ไม่มีผลต่อรายได้หนัง

เว็บไซต์ให้คะแนนหนังเริ่มต้นเมื่อปี 1998 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งรวมกลุ่มกันเพื่อรีวิวและวิพากษ์วิจารณ์หนังบู๊สไตล์กังฟูนั่นเอง ทุกวันนี้เว็บไซต์ Rotten Tomatoes เติบโตด้วยจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ราว 14 ล้านคนต่อเดือน และกลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ทรงอิทธิพลของวงการภาพยนตร์ ขนาดที่ผู้สร้างทั้งหลาย มองว่า ส่งผลต่อการตัดสินใจของคอหนังว่าควรจะไปดูหนังเรื่องนั้นๆ หรือไม่  ถึงขนาดที่ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางครั้งตัวแทนของสตูดิโอทั้งหลายมองว่าหนังของตัวเองส่อแววจะแย่ ก็ต้องพยายามล็อบบี้เว็บไซต์ Rotten Tomatoes  เพื่อให้คะแนนกระเตื้องกันเลยทีเดียว และนี่แหละ “เบรท แรทเนอร์” ผู้กำกับหนังไตรภาค Rush Hour ก็โจมตีว่า เว็บดังกล่าวกำลังทำลายธุรกิจภาพยนตร์   แต่ล่าสุดดูเหมือนว่า ความเข้าใจนี้จะสวนทางกับผลการศึกษาของ “อีฟ เบอร์กวิซ” ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และข้อมูล แห่งศูนย์เทคโนโลยีบันเทิง หรือ Entertainment Technology Center มหาวิทยาลัย เซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย  ซึ่งเก็บข้อมูลรายได้หนังมาตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2017 พร้อมวิเคราะห์ว่า คะแนนในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ซึ่งคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์นั้น ไม่ได้มีผลว่าหนังเรื่องนั้นๆ จะทำเงินเข้าขั้นเปรี้ยง หรือแป้ก เลย แม้แต่น้อย ที่ผ่านมา  ซึ่งถ้าพิจารณาเฉพาะรายได้ของหนังที่เข้าฉายในช่วงซัมเมอร์ปีนี้ ก็พบว่า คะแนนในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes และ รายได้หนังที่แท้จริงนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด 


ขณะเดียวกันการศึกษานี้ยังพบด้วยว่า ที่ผ่านมา หลายคนมักจะมองว่า นักวิจารณ์ไม่ปลื้มกับหนังฟอร์มยักษ์เท่าที่ควร และมักกดคะแนนกับหนังแนวตลาดซะด้วยซ้ำแต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้นักวิจารณ์ใจดีกว่าแต่ก่อน เพราะหนังที่ทำรายได้ทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้มีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 77.5% ซึ่งมากกว่าคะแนนในปี 2013 ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 73%

เท่านั้นไม่พอ เบอร์กวิซยังพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว คะแนนของนักวิจารณ์กับผู้ชมนั้นแทบจะไม่ต่างกันสักเท่าไร ยิ่งหนังที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ คะแนนของทั้งฝั่งนักวิจารณ์และผู้ชมนั้นก็แตกต่างกันเล็กน้อยซึ่งหมายความว่า ผู้ชมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีวิจารญาณพอที่จะรู้ว่าหนังเรื่องไหนดีหรือแย่ 


นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังทำลายความเชื่อเดิมๆ ว่า การที่สตูดิโอทุ่มงบทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิกหรือโปรดักชั่นต่างๆ ไม่ได้การันตีความสำเร็จเรื่องรายได้ แถมบางครั้งผลที่ได้ก็สวนทางด้วยซ้ำและกลายเป็นว่ายิ่งลงทุนสูง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงไปโดยปริยาย

เข้าชม 12 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม

ข่าวแนะนำ