กลับมาอีกครั้งให้แฟนคลับหายคิดถึง กับ กิจกรรม MCOT RADIO CLUB ครั้งที่ 2 เที่ยววิถีไทย หลงใหลบางกอก บอกคำรัก หนุนตักแม่

กลับมาอีกครั้งให้แฟนคลับหายคิดถึง กับ กิจกรรม MCOT RADIO CLUB ครั้งที่ 2 เที่ยววิถีไทย หลงใหลบางกอก บอกคำรัก หนุนตักแม่
กลับมาอีกครั้งให้แฟนคลับหายคิดถึง กับ
กิจกรรม MCOT RADIO CLUB ครั้งที่ 2
เที่ยววิถีไทย หลงใหลบางกอก บอกคำรัก หนุนตักแม่
MCOT RADIO NETWORK ชวนผู้ฟัง …..
 
WALKING&BIKING
ปั่นจักรยานหรือเดินล่อง ท่องเกาะรัตนโกสินทร์ ชมความงาม เรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และ  วิถีชีวิตของกรุงเทพมหานคร
 
EATING
กินอร่อย ย่าน 3 แพร่ง พระนคร กับร้านอาหารยอดฮิตพร้อมชมความงามของอาคารเก่าทรงคุณค่า
ย่านแพร่งนรา แพร่งภูธร แพร่งสรรพศาสตร์ อาทิ ร้านนายอ้วนเย็นตาโฟเสาชิงช้า, เกาเหลาลูกชิ้นสมองหมูไทยทำ, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แพร่งภูธร, บะหมี่แพร่งภูธร,ขนมเบื้องแพร่งนรา, นัฐพร ไอศครีมกะทิสด, ข้าวเหนียว ก. พานิช, กาแฟชิกัจฉา, และอีกมากมาย
 
FLOATING
สัมผัสชีวิตแบบ slow life ของคนกรุง ล่องคลองชมวิถีชีวิต ริมคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่ ) ชุมชนริมคลองบางหลวง คือชุมชนเก่าแก่ริมน้ำ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แวะชมบ้านศิลปิน เป็นบ้านเก่าของ "ตระกูลรักสำรวจ" ตระกูลช่างทองเก่าแก่   ดื่มด่ำกับศิลปวัฒนธรรมภายในบ้าน “ย่านกุฎีจีน” เป็นอีกหนึ่งย่านเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามปากคลองตลาด เป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยในบริเวณชุมชนนี้เป็นที่รวมของชาวชุมชนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แวะชิมขนม "ขนมฝรั่งกุฎีจีน" ต้นฉบับอันเลืองชื่อ 
 
DINNING
ดินเนอร์ร้านอร่อยชี่อดังของคนกรุงเทพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
 
LISTENING
ฟังเพลงซึ้งบทเพลงเพื่อแม่กับมินิคอนเสิร์ตเพลงแม่ จากศิลปินมากมายและนักจัดรายการจาก MCOT Radio Network      ณ ท่ามหาราช  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
บอกรักแม่ก่อนใคร วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม นี้
 
พลาดไม่ได้ กับ กิจกรรมแบบ One day trip
MCOT RADIO CLUB ครั้งที่ 2
 
สนใจสอบถาม
ส่วนการตลาดวิทยุและกิจกรรมพิเศษ สำนักวิทยุ บมจ.อสมท
โทร 02-201-6443-44 หรือ 02-201-6383-84 หรือ 
โทรศัพท์มือถือ 081-829-8849 (ในเวลาทำการ 09.00-17.00 น.)
Website  :  www.mcot.net/radio
E-Mail  : mcotradionetwork@outlook.com
Facebook  : MCOT Radio Network
 
 
 
เกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ตั้งเกาะรัตนโกสินทร์ ในอดีตคือตำบลบางกอกซึ่งมีพื้นที่ทั้งฝั่ง กรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรีรวมเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันมาก่อน เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนมานานแล้ว ชุมชนนี้เจริญเติบโตและหนาแน่นขึ้นเป็นลำดับ พร้อม ๆ กับความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา นับแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 1893 ชุมชนเมืองบางกอกนี้เจริญเติบโตขึ้นเนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ถัดมาจากเมืองพระประแดงซึ่งป็นเมืองด่านสำคัญที่รักษาพื้นที่บริเวณปากอ่าวไทย
 
แต่เดิมนั้นแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะคดเคี้ยวมากซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการติดต่อค้าขาย จึงเป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์โปรดเกล้าฯให้ขุดคลองลัดขึ้นหลายช่วงเพื่อลดระยะทางการเดินเรือจากทะเลไปสู่กรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยพระไชยราชาธิราชได้มีการขุดคลองลัดบางกอกขึ้นจากคลองบางกอกน้อยถึงคลองบางกอกใหญ่คือบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ข้างพระบรมมหาราชวังถึงท่าเตียนในปัจจุบัน เป็นสาเหตุให้แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางจนคลองลัดขยายตัวกว้างออกกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนเส้นทางแม่น้ำเดิมกลับแคบลงและตื้นเขินจนเปลี่ยนสภาพกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ในเวลาต่อมา ส่งผลให้สภาพพื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยนจากแผ่นดินผืนเดียวกันแยกออกเป็น 2 ผืน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลางดังปัจจุบัน
 
  ชุมชนเมืองบางกอกจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงบทบาทจากหมู่บ้านสวนผลไม้และไร่นามาเป็นเมืองด่านสำคัญนับตั้งแต่ขุดคลองลัดแม่น้ำเสร็จเป็นเวลานานกว่า 300 ปี ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียศรีกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพคืนมาและสถาปนาเมืองด่านสำคัญนี้ขึ้นเป็นเมืองหลวงของกรุงธนบุรีด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมคือมีพื้นที่ใกล้ทะเลและมีป้อมปราการดีอยู่แล้ว สภาพภายในกำแพงเมืองฝั่งวันตกของพระนครธนบุรีมีชุมชนหนาแน่นกว่าส่วนอื่น ๆ ภายในพระนคร โดยเป็นที่ตั้งของพระราชวัง วังเจ้านาย คุก และนิวาสสถานของขุนนางผู้ใหญ่ รวมทั้งวัดสำคัญหลายวัด ส่วนภายในกำแพงพระนครฝั่งตะวันออกมีชุมชนเบาบาง ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ของชาวจีนและชาวญวนที่ถูกกวาดต้อนอพยพมา นอกกำแพงพระนครฝั่งนี้เป็นทุ่งนาปลูกข้าวเลี้ยงชาวเมืองเรียกว่าทะเลตม
 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกมายังตะวันออก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นบนพื้นที่ที่ชาวจีนตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม โดยโปรดให้ย้ายบ้านเรือนไปตั้งที่บริเวณใกล้วัดสามปลื้มและวัดสำเพ็ง (ปัจจุบันคือบริเวณวัดจักรวรรดิราชาวาสถึงวัดประทุมคงคา) มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อม ปราการป้องกันพระนคร โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิมกับกำแพงเมืองครั้งกรุงธนบุรีลงเพื่อขยายกำแพงเมือง ขุดคูพระนครใหม่และขุดคลองเพิ่ม ดังนี้
คลองคูเมืองเดิม ได้ขุดคลองโรงไหมที่มีอยู่เดิมทางด้านทิศเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ และคลองตลาดด้านทิศใต้เชื่อมกันตลอดคลองทำให้กรุงรัตนโกสินทร์มีสภาพเป็น “เกาะเมือง” มีน้ำล้อมรอบ
 
คลองรอบกรุง ได้ขุดคลองใหม่เชื่อมระหว่างคลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่างเพื่อเป็นการขยายแนวเขตพระนครออกไป มีคลองเล็ก ๆ เชื่อมคลองรอบกรุงและคลองคูเมืองเดิมสองคลองเรียกว่าคลองหลอด เพราะมีลักษณะแนวตรงเหมือนหลอด ปัจจุบันคือคลองวัดเทพธิดาและคลองวัดราชบพิธ ทำให้พื้นที่โครงสร้างของเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ
กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือ เขตกำแพงเมืองเก่า สมัยกรุงธนบุรีระหว่างคูเมืองเดิมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง
 
กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือ ที่ดินระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง ซึ่งเดิมเป็นที่รกร้างหรือเป็นไร่นามาก่อนเพราะเป็นเขตนอกกำแพงเมือง
 
กรุงรัตนโกสินทร์ยุคแรกมีพื้นที่ภายในกำแพงเมือง 2,589 ไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชั้นใน 1,125 ไร่ และเขตชั้นนอก 1,464 ไร่ ความยาวของกำแพงเมืองโดยรอบพระนคร ประมาณ 7.2 กิโลเมตร ตามแนวกำแพงเมืองมีป้อม 14 ป้อม ประตูเข้าออกพระนคร 63 ประตู
 
 
การวางแผนการใช้ที่ดินเขตชั้นในดำเนินตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือที่ดินด้านเหนือน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งพระราชวังบวรสถานมงคลของพระอนุชาคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท หรือวังหน้า (ปัจจุบันคือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยช่างศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์) ส่วนที่ดินด้านใต้เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวังหน้าและวังหลวงคือวัดมหาธาตุ หลังวัดมหาธาตุเป็นทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง ถัดไปเป็นที่ตั้งของศาลหลวง วังเจ้านาย โรงม้าหลวง ตึกดิน ลงไปตามลำดับ ด้านหลังพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นที่ตั้งของกรมพระนครบาล คุก และหอกลอง ด้านหน้าของวัดพระเชตุพนฯ เป็นวังท่าเตียน ส่วนพื้นที่ระหว่างกำแพงวังด้านใต้กับวัดพระเชตุพนฯ นั้น เป็นบ้านเรือนของเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ เขตชั้นนอกเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารและข้าราชการชั้นผู้น้อย ตลอดจนราษฎรพากันมาจับจองเพื่อตั้งบ้านเรือน ซึ่งมีความหนาแน่นทวีขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาที่ผ่านไป
 
ชุมชนต่าง ๆ ในระยะแรกสามารถแยกออกได้ตามเชื้อชาติเพราะเป็นชาวต่างด้าวเสียส่วนใหญ่ โดยภายในกำแพงเมืองนั้น พวกชาวเขมรอยู่ริมคลองรอบกรุงเยื้องปากคลองหลอด พวกมอญอยู่แถบสะพานมอญ และพวกมลายูอยู่แถบหน้าวัดชนะสงครามและริมคลองหลอด
 
ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญคือมีการขยายเขตพระบรมมหาราชวังออกไปทางทิศใต้อีก 20 ไร่ครึ่ง จนเกือบจดกับเขตวัดพระเชตุพน ฯ ในปี พ.ศ. 2361 ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งบ้านเรือนเสนาบดีเก่าสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ตัดถนนสายใหม่คั่นเขตระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนฯ ชื่อ ถนนท้ายวัง ซึ่งมีความสำคัญในการ บรรจบกับถนนสายเดิมทำให้ขบวนแห่สามารถเคลื่อนรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังได้ดังเช่นปัจจุบัน
 
 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมอาคารสำคัญในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามจำนวนมาก ส่วนวัดต่าง ๆ ที่โปรดให้ปฏิสังขรณ์นั้นมีหลายวัดที่โปรดให้เปลี่ยนชื่อให้เหมือนวัดในกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่คือเจดีย์ภูเขาทองขึ้นที่ภายนอกเขตกำแพงเมืองบริเวณปากคลองมหานาคต่อกับคลองรอบกรุงเช่นที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย เจดีย์ภูเขาทองได้กลายเป็น LAND MARK ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ตราบจนถึงทุกวันนี้
 
เจดีย์ภูเขาทอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงเปลี่ยนนโยบายการปกครองประเทศ โดยทรงยอมรับอิทธิพลจากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น การติดต่อทางการค้าและการเมืองกับต่างประเทศขยายตัวอย่างกว้างขวางและมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งสำคัญ เนื่องจากประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปเมื่อเทียบกับตอนสร้างกรุง ทำให้อาณาเขตพระนครที่กำหนดไว้แต่เดิมคับแคบลง จึงโปรดให้ขยายพื้นที่พระนครออกไปถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม ไม่มีกำแพงเมืองมีแต่ป้อม 7 ป้อม ทำให้พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ไร่ ชุมชนชาวจีนซึ่งถูกอพยพย้ายออกมาเมื่อครั้งเริ่มสร้างกรุงได้สร้างความตื่นตัวโดยเฉพาะด้านการค้าให้กับพื้นที่ที่ขยายตัวออกไปนี้ แผ่คลุมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่คลองรอบกรุงไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ต่อจากชุมชนจีนไปทางใต้เป็นที่ตั้งสถานกงสุลของชาติต่าง ๆ จากยุโรป ครองพื้นที่กระจายต่อจากริมแม่น้ำลึกเข้าไปทางทิศตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์ ์พัฒนาการด้านการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนในน้ำมาเป็นชุมชนบนบก โดยโปรดให้ตัดถนนขึ้นตามความต้องการของชาวจีนและชาวยุโรปเช่น ถนนเจริญกรุง ถนนตรง (พระรามที่ 4) ถนนสีลม ถนนเฟื่องนคร และถนนบำรุงเมือง สองฝากถนนสายต่าง ๆ โปรดให้สร้างตึกแถวเป็นห้องแถวสูง 1-2 ชั้น เพื่อให้เช่าทำการค้าขาย ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เกิดชุมชนใหม่บนบกเป็นครั้งแรกของเกาะรัตนโกสินทร์
 
 
 
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปในคริสศตวรรษที่ 19 กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑล ชื่อ มณฑลกรุงเทพมหานคร มีการปรับปรุงและขยายตัวให้ทันสมัยและทันรับความเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น โดยโปรดให้ขยายและปรับปรุงถนนสายเดิม และสร้างถนนราชดำเนินทั้งสายนอก สายกลาง และสายใน เพื่อเชื่อมการติดต่อระหว่างพระราชวังดุสิตที่ทรงสร้างขึ้นใหม่บริเวณทางเหนือกรุงรัตนโกสินทร์และพระบรมมหาราชวัง ทำให้เกิดงานออกแบบชุมชนเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
 
พระราชวังสวนดุสิต
นอกจากนี้ยังสร้างสะพานด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยเหล็กหล่อเป็นลวดลายวิจิตรตามแบบฉบับงานสถาปัตยกรรมยุโรปยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลงานก่อสร้างทุกประเภทในสมัยนั้น คูคลองต่าง ๆ ก็ได้รับการทำนุบำรุง โดยการปลูกต้นไม้ริมทางสัญจรอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งก่อสร้างอาคารร้านค้าให้ดูกลมกลืนไม่ลักลั่นกันมาก ช่วยส่งเสริมความเป็นระเบียนเรียบร้อยแก่เมือง
 
สะพานมัฆวานรังสรรค์
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ขยายตัวออกไปโดยปราศจากการวางแผน มีการขยายตัวของชุมชนต่าง ๆ เกิดเป็นย่านธุรกิจขึ้น เช่น ย่านการค้าของชาวจีนที่เยาวราช ย่านคนไทยที่บางลำพู ย่านธุรกิจของฝรั่งที่บางรัก ย่านอุตสาหกรรมตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และย่านเกษตรกรรมทางตอนเหนือของเมือง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดตัดถนนและสร้างสะพานเพิ่มเติมจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสร้างพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวังเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่มีการขยายเขตเมืองออกไปอีก แต่ได้ทรงขยายเขตพระราชวังสวนดุสิตและสร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐานขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์เองและของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา
 
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ส่งผลกระทบให้เริ่มมีการแบ่งพื้นที่การปกครองในกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็นอำเภอต่าง ๆ ชั้นในและชั้นนอก พื้นที่เขตชั้นในนั้นก็คือพื้นที่เพียงเท่าที่มีการขยายถนนออกไปในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เท่านั้น
 
  ในรัชกาลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น ทรงครองราชย์เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งสองพระองค์ ประกอบกับเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ลักษณะทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์แทบไม่แตกต่างกันนัก ในช่วง 2 รัชกาลนี้ไม่มีการก่อสร้างพระราชวังหรือวังเจ้านายเพิ่มขึ้น ชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่อยู่ตำแหน่งเดิม โดยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องขอบเขตและความหนาแน่นต่างไปจากเดิมบ้าง การก่อสร้างอาคารใหม่มีน้อยกว่าในเขตชั้นนอก ๆ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการและวัดต่าง ๆ เกือบทั้งสิ้น ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นตึกแถวใช้ชั้นล่างประกอบการค้าและพักอาศัยที่ชั้นบน ที่อยู่อาศัยเหล่านี้มีอายุค่อนข้างมาก กำแพง ป้อมปราการ หมดความสำคัญในการป้องกันรักษาพระนคร ประกอบกับมีสภาพชำรุดทรุดโทรมพังลงบ้าง จึงรื้อกำแพงเมืองตั้งแต่ท่าช้าง วังหน้า จนถึงป้อมพระสุเมรุ ในรัชกาลที่ 7 เพื่อขยายถนนพระอาทิตย์ ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬ กำแพง และประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศเท่านั้น
 
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สภาพกรุงเทพฯ โดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัวเมืองขยายออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มากนัก ที่ดินรอบนอกคลองคูเมืองเดิมส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ได้แก่ อาคารศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า และอาคารพาณิชย์-พักอาศัย ซึ่งมีการรวมตัวของกิจกรรมประเภทเดียวกัน แบ่งเป็นย่าน ๆ อย่างชัดเจน บริเวณย่านการค้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ย่านวังบูรพาและพาหุรัด ย่านบ้านหม้อ ย่านปากคลองตลาด ย่านคลองถม ย่านร้านค้าหลังกระทรวงกลาโหม เป็นต้น สำหรับหน่วยงานราชการในสมัยรัชกาลที่ 9 มีสถานที่ราชการเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั้งหน่วยงานที่ตั้งใหม่และการขยายหน่วยงานเดิม
สนามหลวง พ.ศ.2523 ก่อนการปรับปรุง
 
 
 
ในปี 2520 ทางราชการจึงได้กำหนดชื่อ “เกาะรัตนโกสินทร์” ขึ้น ด้วยมีวัตถุประสงค์จะกำหนดไว้เป็นเขตปรับปรุงปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพราะถือว่าเป็นอาณาเขตกรุงเทพมหานคร หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ระยะแรกเริ่ม
ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศมากว่า 200 ปี กรุงเทพมหานครยังคงปรากฏร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งได้รับการพัฒนาเรื่อยมาตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยการเดินเที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์เริ่มต้นที่ ศาลหลักเมือง ผ่านคลองคูเมืองเดิม ไปตามถนนสายประวัติศาสตร์ ผ่านที่ประทับในอดีตของพระราชวงศ์ สถานที่ศักสิทธิ์ วัด ตลาด ร้านค้า และ พิพิธพันธ์สารคดีชิ้นนี้จะทำ ให้คุณเพลิดเพลินไปกับประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี ของกรุงเทพ 
 
สถานที่ท่องเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร, คลองคูเมืองเดิม, กระทรวงกลาโหม, สะพานช้างโรงสี, กระทรวงมหาดไทย, สะพานปีกุนและอนุเสาวรีย์หมู, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามวรวิหาร, วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม, สะพานหก, สะพานมอญ, ศาลเจ้าพ่อหอกลอง, ปากคลองตลาด, มิวเซียมสยามหรือิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, ท่าเรือท่าเตียน, วัดโพธิ์, สวนสราญรมย์, พระราชวังสราญรมย์, พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว, มหาวิทยลัยศิลปากร, ท่าเรืองท่าช้าง, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวรมหาวิหาร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ท่าเรือท่าพระจันทร์, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร, โรงละครแห่งชาติ, อนุเสาวรีย์ทหารอาสา, และโรงละครวังหน้า 
  
 
สามแพร่ง แหล่งรวมร้านอาหารอร่อยในย่านเก่า บรรยากาศเก๋าๆ เคล้าประวัติศาสตร์
สามแพร่ง เกิดจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงสร้างชุมชนนี้ เพื่อให้เป็นเมืองทดลอง มีสถาปัตยกรรมแบบ ชิโนโปรตุเกส (Sino-Portuguese) เป็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างจีนและโปรตุเกส โดยมีพร้อมทั้งสถานอนามัยและโรงละครร้อง เป็นแหล่งความบเจิญแบบครบครันของยุค สามแพร่งแม้จะผ่านยุคเฟื่องฟูมาแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ย่านดังกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เห็นจะเป็นรสชาติของอาหารที่ยอดเยี่ยม จนทำให้กลายเป็นสวรรค์บนดินของนักชิม  คำว่าแพร่งนั้นมีอีกความหมายหนึ่ง คือที่อยู่ของกลุ่มคนซึ่งอาศัยในบริเวณเดียวกัน มีลักษณะของสถาปัตยกรรม อาชีพ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นกลุ่มชุมชนที่มีที่มาจากจุดเดียวกัน อย่างในกรณีของ 3 แพร่งนี้เป็นย่านที่เคยเป็นที่ตั้งวังเก่าของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) 3 พระองค์ อยู่ติดเรียงกันทั้ง 3 วัง จึงเรียกสถานที่ที่แปรเปลี่ยนสภาพจากวังเป็นย่านที่อยู่ติดกันว่า “สามแพร่ง”ตลอดเส้นทางเดินของสามแพร่งจะมีกิจการร้านค้าเรียงราย ถ้าทาวถึงสมัยก่อนถือเป็นแหล่งรวมสรรพสินค้าเทียบได้กับสยามสแควร์แหล่งรวมวัยเก๋าของยุคปัจจุบัน
 
แพร่งภูธร–ถือเป็นแพร่งที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ในบรรดา 3 แพร่ง เพราะจะมีร้านอาหารชื่อดังจำนวนมากรายล้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นซอกมุมไหนก็จะเจอร้านอาหารน้อยใหญ่รสชาติถูกใจให้ชิมอยู่ตลอดทาง แพร่งภูธรมีที่มาจากเดิมเป็นวังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ สถานที่หนึ่งที่น่าสนใจและอยู่ใกล้วังคือ สุขุมาลอนามัย เป็นสถานีอนามัยแห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีอู่ที่ตรวจสภาพและตีทะเบียนรถยนต์แห่งแรกในประเทศไทย           อู่วิเชียร ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์รถโบราณที่บรรดาเด็กและผู้ใหญ่หัวใจแนวชื่นชอบเป็นพิเศษ ร้านอาหารที่น่าลิ้มลอง ข้าวเหนียวมูน ก.พานิช, บะหมี่แพร่งภูธร, อุดมโภชนา, นัฐพรไอศกรีม, โชติจิตรโภชนา, สายรุ้ง, กิมทอง, ร้านบุญทอน, ชิกัจฉากาแฟสด, ลูกชิ้นสมองหมูไทยทำ ฯลฯ
 
แพร่งนรา–ถิ่นละครร้อง เพราะเป็นวังเก่าของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  พระองค์ทรงเป็นทั้งนักกวีและนักประพันธ์ ทรงมีความสนใจทางด้านการละครและได้นำละครร้องแบบโอเปร่ามาผสมผสานกับละครร้องแบบไทย ทำให้เปิดโรงละครปรีดาลัย โรงละครร้องแห่งแรกของไทย ต่อมากลายเป็น โรงเรียนตะละภัฏศึกษา ปัจจุบันเหลือเพียงล่องรอยที่ยังอยู่ให้ชื่นชม แพร่งนรา นอกจากจะรวมขนมคาวหวานไว้แล้ว  ยังมีบ้านเรือนที่ทำให้กลายเป็นบรรยากาศที่น่ามอง เดินเล่นชมสถาปัตยกรรมที่คุณค่าได้อย่างไม่รู้เหนื่อย ถือเป็นชุมชนที่มีการใช้ชีวิตแบบคนเมืองที่มีสุนทรียะ อาหารน่าลอง เช่น ลูกชิ้นหมูแพร่งนรา, ขนมเบื้องไทยโบราณ, ปาท่องโก๋เสวย, บัวลอยนะจ๊ะ, ก๊วยเตี๋ยวเป็ดนายซ้ง ฯลฯ
 
แพร่งสรรพศาสตร์–แหล่งที่สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์จางหายไป เพราะถูกไฟไหม้ใหญ่ถึง 2 คราว จึงเหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่ตั้งเด่นเป็นตระหง่านไว้ให้ดูต่างหน้า เจ้าของคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระองค์ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์รายแรกและรายเดียวในสยามสมัยนั้น ชาวชุมชนยังคงจำเหตุการณ์ได้ติดตา จึงจัดพิธีไหว้พระเพลิงเป็นประจำกันทุกปี อาหารชวนชิม ได้แก่ เผือกหิมะ เจ๊นี, ไก่ย่างโบราณ, ราดหน้าสูตร 40 ปี, ข้าวมันไก่เจ๊เย็น เป็นต้น
 
 
ชุมชนริมคลองบางหลวง คือชุมชนเก่าแก่ริมน้ำ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  คลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่ เดิมเคยเป็นแม่น้ำ เจ้าพระยาสายเดิมมาก่อน แต่เพราะเป็นแม่น้ำช่วงที่โค้งอ้อมกินบริเวณกว้าง เวลาแล่นเรือผ่านมาจึงทำให้เสียเวลาในการเดินทางไปมาก ครั้งนั้น สมเด็จพระชัยราชาธิราชพระมหากษัตริย์ ในแผ่นดิน กรุงศรีอยุธยาจึงโปรดเกล้าฯให้มีการขุดคลองลัดขึ้น ในปี พ.ศ.2065 เพื่อร่นระยะทางและ ระยะเวลาสำหรับบรรดาพ่อค้าต่างชาติที่จะมาค้าขายเจริญ สัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยา
 
ภายหลังจากขุดคลองแล้ว คลองที่ขุดกลับมีขนาดใหญ่โตขึ้นเพราะกระแสน้ำไหลมากัดเซาะชายฝั่งให้กว้างขึ้น ขณะที่แม่น้ำสายดั้งเดิมค่อยๆ เล็กลง กลายสภาพเป็นคลองสายหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันปากคลองทางฝั่งโรงพยาบาล ศิริราชเรียกกันว่า คลองบางกอกน้อย ส่วนปากคลองอีกด้านหนึ่ง ทางป้อมวิไชยประสิทธิ์เรียกกันว่า "คลองบางกอกใหญ่"  ส่วนเหตุที่เรียกคลองบางกอกใหญ่ว่าคลองบางหลวงก็เนื่องจาก เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้า ตากสิน มาสร้างราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรีนั้นข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายต่อหลายท่านมาจับจองสร้างบ้านกัน อยู่ริมคลอง บางกอกใหญ่ เพราะเป็นบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังกรุงธนบุรี ชาวบ้านจึงเรียกคลองแถบนี้อีก ชื่อหนึ่งว่า "คลองบางข้าหลวง" และเหลือเพียง "คลองบางหลวง" ในที่สุด
 
ร้านค้าและบ้านไม้ที่น่าสนใจชุมชนริมคลองบางหลวง
บ้านศิลปิน–เป็นบ้านเก่าของ "ตระกูลรักสำรวจ" ตระกูลช่างทองเก่าแก่ ซึ่งทายาทรุ่นสุดท้ายได้ขายบ้านหลังนี้ ให้กับคุณชุมพลอักพันธานนท์ เพื่อปรับปรุงให้เป็น สถานที่แสดงงานศิลป์ เป็นที่รวมตัวของของ กลุ่มศิลปินที่รัก งานศิลปะ บ้านศิลปินเป็นอาคารไม้ทรงมะนิลารูปตัวแอลที่สร้างล้อมรอบเจดีย์เก่าซึ่ง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในสี่ของเจดีย์แต่ละทิศที่กำหนดเขตพื้นที่เก่าของวัด กำแพง ด้านบนของตัวอาคารเปิดเป็น แกลเลอรี่ แสดงงานศิลปะทั้งภาพวาดและภาพถ่ายให้ ได้ชมกัน ถือเป็นบ้านไม้แห่งแรกที่ปลุกชีวิตให้ชุมชนคลอง บางหลวงให้กลับมาคึกคักอีกครั้งถือเป็น ไฮไลท์ของที่นี่เลยก็ว่าได้ บ้านศิลปินเป็นอาคารไม้ทรงมะนิลา รูปตัวแอล ที่สร้างล้อมรอบเจดีย์เก่าซึ่งเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่า เป็นหนึ่งในสี่ของเจดีย์แต่ละทิศ ที่กำหนดเขตพื้นที่เก่าของวัดกำแพง ภายหลังอาคารหลังนี้ได้ถูกปรับปรุงใหม่โดยกลุ่มศิลปิน เพื่อเป็นที่รวมตัวของผู้ที่ ทำงานและรักงานศิลปะ โดยยังคงสภาพเก่าของตัวอาคารไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะเจ้าของตั้งใจจะทำทุก อย่างให้กลมกลืนกับชุมชนด้านบนของ ตัวอาคารเปิดเป็นส่วนแสดงงานศิลปะทั้งภาพวาดและภาพถ่ายให้ได้ชมกัน ส่วนด้านล่างแบ่งเป็นพื้นที่ ทำงานศิลปะต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการทำเครื่อง ประดับรวมอยู่ด้วย โดยผู้ดูแลบ้านศิลปินเล่าว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ ทำ เครื่องประดับเป็นของเก่าที่อยู่กับอาคารหลังนี้ตั้งแต่สมัยก่อน และทุกวันนี้ยัง สามารถใช้ได้จริง ทุกๆวันอาทิตย์ ที่นี่จะมีการฝึกอบรมอาชีพการทำเครื่องประดับให้กับผู้ที่สนใจฟรีโดยไม่คิดค่าอบรม ด้านล่างแบ่งเป็นมุมขายของ ที่ระลึกและโปสการ์ด มีมุมร้านกาแฟให้ได้สั่งเครื่องดื่มมานั่งจิบพร้อม ชมวิวทิวทัศน์ ริมคลอง เรานั่งรับลมที่พัดเอื่อยๆ เย็นสบายมองคนที่อยู่บ้าน ฝั่งตรงข้าม กำลังให้อาหารปลาอย่างเพลิดเพลิน บางช่วงจะมีเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมาทำความรู้จักกับสถานที่เก่าๆ ในเมืองกรุง คนบนเรือหลายคนยิ้มและโบกมือทักทายให้คนบนฝั่ง เป็นภาพที่น่ารักและช่วยให้ผ่อนคลาย เหมือนที่ตั้งใจไว้แต่ แรกจนแทบลืมดูเวลา กัน เลยทีเดียวอ่านและอิ่มแบบมีสไตล์ นอกจากนี้ที่บ้านศิลปินยังหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง ซึ่งเปิดให้ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
 
ร้านหนังสือปิ่นโต–มีหนังสือทั้งเก่าและใหม่วางจำหน่าย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในราคาไม่แพง โดยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิเด็กอีกด้วย
 
ร้านขายสินค้าโอทอป–ขายของที่ระลึก  เช่น กระเป๋า พวงกุญแจ เสื้อ ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร และของใช้จิปาถะมากมาย
บ้าน ศ.จิตรกร–บ้านเก่าแก่ที่โชว์งานศิลปะต่างๆ  รวมทั้งรับวาดภาพเหมือนโดยใช้เวลาเพียง 15 นาที
 
 
คลองชักพระ หรือ คลองบางขุนศรี เคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงปากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ยังเป็นแผ่นดินอยู่ ส่วนเส้นทางเดิมจะอ้อมจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคุ้งกว้างวกกลับมาข้างวัดท้ายตลาด ถึงปี พ.ศ. 2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดขึ้น         เพื่อย่นระยะทางและเพื่อสะดวกต่อบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักร ต่อมาคลองลัดเริ่มกว้างขึ้นกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็เล็กลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ และคลองชักพระไป
คลองชักพระ ไหลแยกจากคลองบางกอกน้อยบริเวณวัดสุวรรณคีรีไปเชื่อมกับบริเวณที่คลองมอญตัดกับคลองบางกอกใหญ่ ลำคลองกว้างประมาณ 10-15 เมตร และยาว 5.45 กิโลเมตร ทุกๆวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 จะมีประเพณีชักพระ โดยเรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจะถูกชักลากจากวัดนางชี คลองภาษีเจริญผ่านคลองชักพระและคลองบางกอกน้อย ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วอ้อมมาเข้าคลองบางกอกใหญ่กลับไปที่วัดนางชีตามเดิม ซึ่งนับเป็นงานประเพณีชักพระแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร และเป็นที่มาของชื่อคลองนี้
 
ปัจจุบัน คลองชักพระเป็นคลองเพื่อการระบายน้ำ การสัญจร และการท่องเที่ยว มีคลองอื่นๆ ไหลเชื่อม ได้แก่ คลองบ้านไทร คลองบางระมาด และคลองบางพรม และยังเป็นแนวแบ่งเขตบางกอกน้อย กับเขตตลิ่งชันตลอดทั้งสายด้วย
 
คลองมอญ เป็นคลองธรรมชาติคลองหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตบางกอกใหญ่และเขตบางกอกน้อย ที่มาของชื่อคลองมาจากที่ริมสองฝั่งคลองเป็นชุมชนชาวมอญเรียงรายกันไปตลอดแนว คลองมอญแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก พาดผ่านเป็นแนวแบ่งเขตแดนระหว่างเขตบางกอกน้อย และบางกอกใหญ่ ไปออกยังบริเวณที่ คลองบางน้อย และ คลองบางเชือกหนัง ไหลมารวมกัน ในรอยต่อเขตภาษีเจริญและเขตตลิ่งชัน คลองมอญมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีศาสนสถานและวัดสำคัญๆ มากมาย เช่น วัดเครือวัลย์ วัดนาคกลาง วัดพระยาทำ วัดครุฑ วัดโพธิ์เรียง วัดบางเสาธง วัดปากน้ำฝั่งใต้ วัดเกาะ คลองมอญจึงมีความสำคัญต่อการระบายน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานครชั้นในเป็นอย่างมาก ชื่ออื่นๆ ของคลองมอญที่นิยมเรียกกัน ก็คือคลองบางเสาธง ซึ่งเรียกกันในช่วงที่มารวมกับคลองบางน้อย และบางเชือกหนัง หรือบางครั้งก็ถือว่าคลองช่วงนี้เป็นส่วนหนึ่งของคลองบางน้อย
 
คลองบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2077 – 2089) ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งกล่าวกันว่าช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน
 
คลองบางกอกน้อย เริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของสถานีรถไฟธนบุรี ไหลขึ้นไปบรรจบคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) และคลองลัดบางกรวย ตรงข้ามวัดสุวรรณคีรี มีความกว้างมากถึง 40 เมตร และยาว 3.3 กิโลเมตร คณะรัฐมนตรีมีมติให้คลองบางกอกน้อยเป็นคลองสำคัญซึ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ในปัจจุบันช่วง คลองลัดบางกรวย (หมายเลข ๒ ในภาพ) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งคลองบางกอกน้อยไปด้วย รวมถึงคลองอ้อม หรือคลองอ้อมนนท์ ก็เรียกกันทั่วไปว่าคลองบางกอกน้อยเช่นกัน
 
ปัจจุบัน คลองบางกอกน้อยใช้ในการคมนาคม สัญจร ทัศนาจร ท่องเที่ยว ใช้ขนส่งสินค้า ใช้เล่นกีฬาทางน้ำ ใช้อาบน้ำ   ใช้ล้างภาชนะ ใช้ระบายน้ำ และยังเป็นเส้นทางชักพระของวัดนางชี ซึ่งมีขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี[4] โดยชักแห่ไปทางน้ำ ผ่านคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แล้ววกลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่ กลับไปยังวัดนางชีตามเดิม ไหลผ่าน เขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี
 
 
วิถีชีวิตย่ายกุฎีจีน ความแตกต่างที่ไม่แตกแยก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศใต้บริเวณพระราชวังเดิม เป็นที่ตั้งของย่านเก่าที่ผู้คนได้อพยพติดตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาตั้งถิ่นฐานภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 
คำว่า “กุฎี” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กะดี” เป็นคำโบราณที่ใช้เรียกอาคารหรือศาสนสถานมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาและต่อเนื่องจนถึงกรุงธนบุรี
 
กุฎีจีน หรือ กะดีจีน คือชื่อเรียกชุมชนอันติดปากผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ หากได้ยินเพียงชื่อ อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นชุมชนชาวจีน แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีแค่คนจีนเท่านั้น ยังมีผู้คนหลากหลายทั้งมุสลิมและชาวคริสต์ อาศัยอยู่ร่วมกันมา 200 ปีแล้ว
ผู้คนในชุมชนส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเห็นได้จากการตกแต่งบ้านเรือนด้วยศิลปะที่กล่าวถึงและบูชาพระเยซูคริสต์ คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด สามัคคีกลมเกลียวฉันเครือญาติ มีบาทหลวงเป็นผู้นำชุมชน เมื่อมีกิจกรรมในชุมชน สมาชิกชุมชนต่างพร้อมใจร่วมมืออย่างเต็มที่
ภายในชุมชนยังสามารถพบเห็นบ้านไม้สถาปัตยกรรมในรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของ"เรือนแบบขนมปังขิง" หรือเรือนมะนิลา อันเป็นรูปแบบของอาคารที่มีการตกแต่งประดับประดาด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลาย ตามบริเวณหน้าจั่ว ช่องระบายอากาศ ลูกกรงระเบียง และรอบชายคา
 
ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมโบราณที่คนไทยรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ทำสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ปัจจุบันขนมกุฎีจีนได้ทำอยู่ประจำที่ชุมชนกุฎีจีน เอกลักษณ์ของขนมกุฎีจีนชนิดนี้อยู่ที่เป็นขนมลูกผสมระหว่างจีนกับฝรั่ง ตัวขนมเป็นตำรับของโปตุเกส ขณะที่หน้าของขนมเป็นจีน ซึ่งประกอบด้วยฝักเชื่อม ชาวจีนเชื่อว่ารับประทานแล้วจะร่มเย็น น้ำตาลทรายทานแล้วจะมั่งคั่งไม่รู้จบเหมือนกับน้ำตาลทรายที่นับเม็ดไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีลูกพลับอบแห้ง และลูกเกด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีราคาและมีคุณค่าทางอาหาร แม้ขนมฝรั่งหน้าตากระเดียดมาทางขนมเค้ก แต่ด้วยสูตรพิเศษที่สืบทอดมาแต่โบราณจะใช้เพียงไข่ แป้งสาลี และน้ำตาลทรายแดงเท่านั้น ไม่มีส่วนผสมของเนยนม ยีสต์ ผงฟู และสารกันบูด แต่เมื่อผ่านการอบด้วยอุณหภูมิความร้อนที่พอเหมาะ จะได้ขนมที่ออกมารสชาติกรอบนอกนุ่มในพอดิบพอดี ยากที่จะเลียนแบบ
 
การอยู่ร่วมกันของชาวชุมชนกุฎีจีนถือเป็นวิถีชีวิตที่มีความน่าสนใจและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างมาก และสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของแต่ละศาสนาที่ประกอบอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม โดยชุมชนกุฎีจีนมีสถานที่สำคัญและประวัติความเป็นมาที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา ที่ประกอบกันด้วย 3 ศาสนา ดังนี้
ศาสนาพุทธ
1. ศาลเจ้าเกียนอันเกง
ตามบันทึกประวัติศาลเจ้าเกียนอันเกง บันทึกว่ากุฎีจีนสร้างในสมัยกรุงธนบุรีโดยชาวจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสิน เดิมมี 2 ศาล คือ ศาลเจ้าโจวซือกง และศาลเจ้ากวนอู ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ย้ายพระนครไปกรุงเทพ คนจีนเหล่านี้จึงอพยพไปรวมกับพวกที่ย่านตลาดน้อยและสำเพ็ง ศาลเจ้าจึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้บูรณะรวมกันเป็นศาลเดียวกันแล้วอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมมาประดิษฐานให้ชื่อว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้านี้จึงเป็นร่องรอยของชุมชนในย่านกุฎีจีน
2. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร 
เป็นพระอารามหลวงสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวิหารหลวงประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัย และภายในวิหารเล็กมีภาพเขียนฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นเรื่องพุทธประวัติ และความเป็นอยู่ของบ้านเรือนไทยในยุคนั้น
3. วัดประยุรวงศาวาส
วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ภายในวัดมีสถานที่สำคัญที่เป็นการบ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายในชุมชน
“เขามอ” เป็นภูเขาจำลองขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด มีศาลาราย ๘ หน้า ตั้งอยู่ริมสระน้ำเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา บนยอดเขาเป็นที่ตั้งพระสถูปหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองสำหรับบรรจุพระพุทธรูปสำคัญไว้ภายใน และทางทิศใต้ของเขามอ เป็นที่ตั้งของมณฑปโกธิค ที่
 
 
ประดิษฐานพระพุทธรูป และเบื้องหลังมณฑปโกธิค ยังมีศาลเจ้าจำลอง ทำให้เราสามารถเห็นภาพของสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานได้อย่างชัดเจน
 
 
ศาสนาคริสต์
โบสต์ซางตาครู้ส
อีกหนึ่งศาสนสถานที่อยู่คู่กับชุมชนแห่งนี้มากว่า ๒๔๐ ปี ศาสนสถานแห่งนี้ก็คือ วัดซางตาครู้ส หรือโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกชาวชุมชนกุฎีจีนที่นี่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายแก่ข้าศึก ชาวยุโรปส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้อพยพย้ายถิ่นฐานออกไปนอกราชอาณาจักร คงเหลือไว้แต่ชาวโปรตุเกสที่เข้าร่วมรบกับพระยาตาก จวบจนได้รับชัยชนะเหนือพม่าข้าศึก ดังจดหมายของสังฆราชเลอบ็อง(Mgr. Le Bon) กล่าวไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงวางพระราชหฤทัยในพวกเข้ารีต” คำว่าพวกเข้ารีต นี้ หมายถึงพวกคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส
 
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี คุณพ่อยาโกเบ กอรร์(Jacues Corre) บาทหลวงมิชชันนารีที่ลี้ภัยสงครามไปอยู่ในเขมรได้เดินทางกลับมายังเมืองบางกอก พร้อมกับคริสตังชาวญวน ๓ คน และชาวไทยอีก ๑ คน โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินและโอนที่ดินผืนหนึ่งให้บริเวณใกล้ปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อ วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๒ คุณพ่อกอรร์ ได้ตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า “ซางตาครู้ส” (Santa Cruz) ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส Santa แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ Cruz = Cross แปลว่า ไม้กางเขนรวมความหมายถึง “กางเขนศักดิ์สิทธิ์” ฉะนั้นในวันที่ ๑๔ กันยายนของทุกปี จะมีพิธีฉลองไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแห่งนี้ตัวอาคารของวัดซางตาครู้ส เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก และเรเนอซองส์ อาคารโบสถ์หลังนี้นับเป็นหลังที่ ๓ นับตั้งแต่มีการตั้งวัดซางตาครู้ส
 
 
ศาสนาอิสลาม
ชาวมุสลิมเป็นกลุ่มชนที่มาตั้งรกรากในธนบุรีจำนวนมากรองจากชาวจีน ส่วนใหญ่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสิน สถาปนากรุงธนบุรีแล้ว มุสลิมบางส่วนอยู่ในธนบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะธนบุรีเป็นเมืองท่าจึงมีพ่อค้ามุสลิมจากหัวเมืองมลายูโดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยเปิดการค้าเสรีภายใต้สนธิสัญญาเบาริ่ง ศูนย์กลางของมุสลิมในธนบุรีอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ โดยมีมัสยิด ดังนี้
 
1. มัสยิดบางหลวง
มัสยิดบางหลวง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2328) โดยพ่อค้ามุสลิมชื่อโต๊ะหยี ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ทำการก่อสร้างมัสยิดขึ้นในหมู่บ้าน “เป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง” มีหน้าบันหน้า-หลังประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาติคือ ที่กรอบหน้าบัน เป็นเครื่องลำยอง ประดับห้ามลายไว้บนยอด เป็นศิลปะไทย ส่วนในหน้าบัน เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ เป็นศิลปะฝรั่ง และที่ส่วนดอกไม้ เป็นดอกเมาตาล เป็นศิลปะจีน
 
ลายศิลปะ 3 ชาตินี้ ได้นำมาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด ในส่วนตัวอาคารที่เป็นปูน ทาสีขาวทั้งหมด ส่วนที่เป็นไม้จึงสีเขียว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าว่า "กุฎีขาว" (คำว่า กุฎี ถูกนำมาใช้เรียกศาสนสถานของมุสลิมมาแต่สมัยอยุธยา แต่เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 ได้เปลี่ยนคำเรียกเป็นมัสยิด) ขณะเดียวกัน ท่านโต๊ะพิมเสน ได้ขอซื้อพระตำหนักวังหน้าเก่ามาทำเป็นศาลามัสยิดขึ้น 1 หลัง เป็นไม้ทั้งหลังและเป็นทรงไทยเช่นเดียวกัน
 
แม้ตัวอาคารจะเป็นทรงไทย ซึ่งนับว่าเป็น “มัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทย” แต่ผู้สร้างก็ได้บรรจุหลักการสำคัญของศาสนาอิสลามไว้ คือ มี มิมบัร (แท่นแสดงธรรม คล้ายธรรมาศน์ของพระภิกษุ) มิหฺร็อบ (ที่ละหมาดของอิหม่าม) โครงสร้างภายในก็เป็น พื้นราบ สะอาด ปราศจากรูปเคารพ มีเสาค้ำยันพาไล จำนวน 30 ต้น เท่ากับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุลอาร ที่มี 30 บท และห้องละหมาดมี 12 หน้าต่าง 1 ประตู รวม 13 ช่อง เท่ากับจำนวนรุกุ่น หรือกฎละหมาด 13 ข้อ
 
30 ปีถัดมา มิมบัรเก่าในมัสยิดชำรุดลง เจ้าสัวพุก พ่อค้าจีนมุสลิม (ต้นตระกูล พุกภิญโญ) ได้ทำการก่อสร้างมิมบัรและมิหรอบขึ้นใหม่ เป็นซุ้มทรงวิมาน ก่ออิฐถือปูนปิดทอง ผสมผสานด้วยลวดลายปูนปั้นของศิลปะ 3 ประกอบด้วย ฐานเสา เป็นปูนปั้น
 
 
ลวดลายไทย เกี่ยวกระหวัดด้วยกิ่งใบฝรั่งเทศและดอกเมาตาลของจีน ตลอดตัวเสาประดับกระจกสีลายไทย เป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายรักร้อย และลายแก้วชิงดวง      
 
ส่วนด้านบนเป็นทรงวิมาน 3 ยอด สอดแทรกด้วยลวดลาย ก้านใบฝรั่งเทศและดอกเมาตาลของจีน เต็มทั้ง 3 ยอด ตลอดทั้งซุ้มประดับด้วยกระจกหลากสี พร้อมกับได้แกะสลักแผ่นไม้เป็นอักษรอาหรับนูนลอย เป็นชื่อ อัลเลาะห์ นบีมูฮำหมัด บุคคลสำคัญของศาสนา บทอัลกุรอานที่สำคัญ ติดตั้งไว้ภายในซุ้ม
 
 
2. มัสยิดต้นสน
เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มัสยิดต้นสน เดิมเรียกว่า “กุฏีใหญ่” โดยเรียกย่อมาจากคำว่า “กุฏีบางกอกใหญ่” เพราะตั้งอยู่บริเวณใกล้ปากคลองบางกอกใหญ่ หลังจากมีการสร้างอาคารใหม่และปลูกต้นสนคู่ที่หน้าประตูกำแพง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “มัสยิดต้นสน”
 
มัสยิดต้นสนเมื่อแรกสร้างเป็นเพียงเรือนไม้ยกพื้น ฝาขัดแตะ และหลังคามุกจาก หลังจากที่ชาวมุสลิมที่มาประกอบพิธีทางศาสนามีจำนวนมากขึ้น จึงมีการขยายมัสยิดให้กว้างขวาง โดยเปลี่ยนเป็นเรือนไม้สักและหลักคามุงกระเบื้อง ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการสถาปนามัสยิดให้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันเป็นลายลงรักปิดทองประดับช่อฟ้า ใบระกาคล้ายวัดในพุทธศาสนา ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้าใบระกาออก เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด
 
อาคารหลังเดิมที่สร้างในปี พ.ศ.๒๓๕๙ เกิดทรุดตัวลง ในวันศุกร์ที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กรรมการมัสยิดในช่วงนั้นจึงได้ทำการสร้างมัสยิดต้นสนขึ้นใหม่ โดยพยายามรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิมไว้ให้มากที่สุด ผนังก่ออิฐมอญโดยใช้อิฐของเดิม กรอบประตูและหน้าต่างตกแต่งบัวปูน เฉพาะกรอบประตูทางเข้าด้านหน้าตกแต่งด้วยบัวหินขัดสีขาว ด้านหน้าเป็นหน้ามุขยื่นออกมา และก่อสูงเป็นรูปโดมรูปทรงแบบอาหรับอิยิปต์ ภายในมีมิมบัรและมิฮฺรอบมีลักษณะสวยงาม และมีแผ่นกระดานที่พบในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แกะสลักเป็นภาษาอาหรับกะอบะห์ และผังมัสยิดอัลฮะรอม ในนครเมกกะห์ซึ่ง ถือว่ามีคุณค่าและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก มัสยิดต้นสนหลังนี้สร้างเสร็จและมอบงานเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๔๙๗ และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
 
จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกันถึงสามศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ทำให้เกิดโครงการมากมายที่ต้องการสืบสานมรดกวัฒนธรรมย่านกุฎีจีน ซึ่ง "ย่านกุฎีจีน" นั้นยังได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องชุมชนโบราณกลางเมือง ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนเก่าแก่เพียงไม่กี่ชุมชน ที่ยังมีสิ่งก่อสร้างสวยงามหลงเหลืออยู่ภายในเป็นจำนวนไม่น้อยไม่น้อย
 
แต่ถึง "ย่านกุฎีจีน" จะเป็นย่านนำร่องในการบำรุงรักษาชุมชนเชิงอนุรักษ์ จากการเดินสำรวจภายในและโดยรอบชุมชน ทำให้พบว่าในปัจจุบันพื้นที่ของชุมชนกำลังถูกทำลายทั้งจากสิ่งก่อสร้างที่กำลังเพิ่มขึ้น ความสะดวกสบายทางการคมนาคมที่เข้าใกล้มากขึ้น อาจจะทำให้ความสงบสุขและความเงียบที่เป็นเสน่ห์ของกุฎีจีนอาจค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา
 

 


เข้าชม 40 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม