“แดเนียล แรดคลิฟฟ์ – เอ็มม่า วัตสัน” เกือบไม่ได้แสดง Harry Potter

เริ่มจากหนุ่มน้อยสุดน่ารัก “แดเนียล แรดคลิฟฟ์” ถูกค้นพบโดย “เดวิด เฮย์แมน” และคนเขียนบทหนัง “สตีฟ” ที่เตะตา “แดเนียล” จากการที่เขามาออดิชั่นหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ทั้งคู่ทำร่วมกัน ซึ่งดูเหมาะเจาะกับบท “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ตามบทประพันธ์ของ “เจ. เค. โรว์ลิง” สุด ๆ แต่กลายเป็นว่าพ่อแม่ของเขากลับไม่อยากให้ลูกชายเล่นหนังเรื่องนี้ จน “เฮย์แมน” ต้องไปกล่อมให้ “แดเนียล” มาลองทดสองการแสดงดู แล้วก็โป๊ะเชะ และถึงแม้ในหนังสือจะระบุว่า “แฮร์รี่ พอตเตอร์” มีนัยน์ตาสีเขียว แต่เพราะ “แดเนียล” แพ้คอนแทคเลนส์ “เจ.เค. โรว์ลิง” จึงยอมให้เป็นดวงตาสีฟ้าตามธรรมชาติ


ขณะที่ “เอ็มม่า วัตสัน” ก็เป็นเด็กหญิงคนสุดท้ายที่โผล่ไปออดิชั่น เพราะเมื่อทีมงานคัดเลือกนักแสดงอุตส่าห์เดินทางไปถึงโรงเรียนของเธอ “เอ็มม่า” ก็ปฏิเสธที่จะมาให้สัมภาษณ์ จนครูที่ปรึกษาต้องคะยั้นคะยอให้ลองดู แล้วก็กลายเป็นว่า “เอ็มม่า” คือคนที่ใช่ และแม้ว่าตามบทประพันธ์ “เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์” จะต้องมีฟันกระต่ายคู่ใหญ่ แต่สุดท้ายก็ต้องเท เพราะสาวน้อย “เอ็มม่า” พูดไม่ถนัดเมื่อใส่ฟันปลอมนั่นเอง  


ส่วนฉากที่มี “แฮร์รี่” ถึง 7 คนในหนังภาค 7 Harry Potter and the Deathly Hollow แม้จะโผล่เพียงไม่กี่วินาทีในหนัง แต่เพราะเบื้องหลังมันซับซ้อน “แดเนียล” จึงต้องถ่ายทำฉากนี้ถึง 90 เทคเลยทีเดียว           

ในฉากเต้นรำในหนังภาค 4 Harry Potter and the Goblet of Fire ขณะที่คนอื่น ๆ ใช้เวลาเรียนและซ้อมเต้นกันราว 3 สัปดาห์ แต่ “แดเนียล” มีเวลาฝึกน้อยกว่าเพื่อนเพราะคิวถ่ายทำแน่นเอี้ยด สุดท้ายทีมงานจึงต้องถ่ายฉากนี้โดยจับภาพเขาตั้งแต่ระดับเอวขึ้นมา ไม่ให้เห็นการเคลื่อนไหวของขาและเท้าที่ผิดจังหวะสุด ๆ  

ด้าน “รูเพิร์ต กรินต์” ที่รับบท “รอน วีสลีย์” ตัวจริงก็เป็นโรคกลัวแมงมุมขั้นรุนแรง ในฉากที่เขากับ “แฮร์รี่” ต้องเผชิญหน้ากับแมงมุมยักษ์อะราก็อก “รูเพิร์ต” จึงไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ ในการจินตนาการว่ากำลังเผชิญหน้ากับแมงมุมยักษ์ในฉากกรีนสกรีน เพราะความรู้สึกที่เขาแสดงออกมานั้นมันสมจริงสุด ๆ  


ขณะที่ “แฮร์รี่ เมลลิง” ที่รับบท “ดัดลีย์ เดิร์สลีย์” ลูกพี่ลูกน้องจอมตะกละของ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ซึ่งตุ้ยนุ้ยสมจริงตามบทประพันธ์ แต่ชีวิตจริงเขาต้องลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพ ทีมงานจึงต้องทำอุปกรณ์เสริมเพื่อให้เขายังดูตุ้ยนุ้ยอยู่ ถึงอย่างนั้นการที่เขาผอมลงก็ทำให้ทีมงานต้องตัดบางฉากออกไปอย่างน่าเสียดาย

และแม้ในเรื่อง พ่อมดแต่ละคนจะมีไม้กายสิทธิ์ประจำตัวเพียงแค่อันเดียวตลอดชีพ แต่ระหว่างการถ่ายทำ “แดเนียล” ใช้ไม้กายสิทธิ์ราว 60-70 อัน ซึ่งไม้กายสิทธิ์ในร้านของคุณ “โอลิแวนเดอร์” มีทั้งสิ้นราว 17,000 อัน แต่ละอันเป็นงานทำมือล้วน  ๆ ส่วนแว่นตาของ “แฮร์รี่” ที่ใช้ตลอดการถ่ายทำหนังทั้ง 7 ภาคใช้ไปมากกว่า 160 คู่

ส่วนฉากขับรถไปติดต้น “วิลโลว์จอมหวด” ในหนังภาค 3 Harry Potter and the Prisoner of Azkaban ก็ทำรถฟอร์ดพังไปถึง 14 คันเพื่อถ่ายทำฉากนี้ฉากเดียว

และความรู้สึกว้าวของเด็ก ๆ ทุกคนตอนเดินเข้าห้องโถงใหญ่ของโรงเรียนฮอกวอร์ตส์ในหนังภาคแรก Harry Potter and the Sorcerer’s Stone ก็เป็นความรู้สึกว้าวจริง ๆ ของเด็ก ๆ เพราะก่อนถ่ายทำฉากนี้พวกเขาไม่เคยได้เห็นสถานที่แห่งนี้มาก่อนนั่นเอง


สำหรับฉากโรงอาหาร ในหนังภาคแรกแม้จะสิ้นเปลืองแต่ทีมงานก็ใช้อาหารจริง ๆ ประกอบฉากเพื่อความสมจริง แต่เพราะแสงไฟจัดจ้าในการถ่ายทำ ทำให้อาหารบูดเสียเร็ว ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ ในหนังภาคต่อ ๆ มาจึงหันมาใช้โมเดลอาหารแทน

ส่วนบรรดาจดหมายต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองเขียนมาถึงลูกหลาน ทีมงานก็ลงทุนเขียนด้วยมือทุกฉบับแทนที่จะพิมพ์ แถมยังต้องเขียนซ้ำอีกกว่าครึ่งเพราะจดหมายได้รับความเสียหายจากการขยุ้มของเจ้านกฮูก

และเพราะหนังเรื่องนี้ใช้นักแสดงเด็กวัยประมาณ 10 ขวบหลายสิบคน ซึ่งยังเป็นช่วงวัยที่ฟันน้ำนมจะหักเพื่อให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ จึงต้องมีการทำฟันปลอมเตรียมไว้สำหรับนักแสดงคนไหนก็ตามที่เจอปัญหานี้

และเพื่อไม่ให้เด็กต้องเสียการเรียนทีมงานจึงกำหนดเวลาถ่ายทำของเด็ก ๆ ไว้เพียงวันละ 4 ชั่วโมง ทั้งยังจัดการเรียนการสอนเสริมพิเศษให้แก่เด็กวัย 10 และ 11 ขวบ เพิ่มให้อีก 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมอังกฤษ เพราะทำให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงกฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กทั่วประเทศ โดยให้ลดเวลาทำงานของแรงงานเด็กต่ำลงกว่าเดิม และบังคับให้จัดการเรียนการสอนในกองถ่ายให้แก่นักแสดงเด็ก รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ  สำหรับนักแสดงเด็กหรือแรงงานเด็กด้วย

ฉากที่ถ่ายทำในห้องสมุดเก่าแก่ Duke Humfrey ภายในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก็เป็นการฉีกกฎเหล็กที่เคร่งครัดมายาวนานนับร้อย ๆ ปีของห้องสมุดแห่งนี้ ที่ห้ามมี “เปลวไฟ” เด็ดขาด เพื่อรักษาหนังสือมหาศาลที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่ท้ายสุดห้องสมุดก็อนุญาตแบบพบกันครึ่งทาง คือเป็น “เปลวไฟ” จากตะเกียง ในฉากที่ “แฮร์รี่” ถือตะเกียงเดินสำรวจพื้นที่ต้องห้ามของห้องสมุดเก่าแก่ในฮอกวอตส์นั่นเอง


ส่วนบัตเตอร์เบียร์ในหนังภาค 6 Harry Potter and the Half Blood Prince จริง ๆ ก็เป็นน้ำแอปเปิลนั่นเองจ้า

และจริง ๆ โปรดิวเซอร์หนังเคยออกปากเชิญผู้กำกับตัวพ่อ “สตีเวน สปีลเบิร์ก” เจ้าของฉายา “พ่อมดแห่งฮอลลีวูด” มานั่งเก้าอี้กำกับหนังภาคแรก แต่เพราะ “สปีลเบิร์ก” เห็นว่าควรจะสร้างหนังออกมาในรูปแบบแอนิเมชันมากกว่าโดยให้นักแสดงเด็กลูกรัก “ฮาลีย์ โจเอล ออสเมนต์” เป็นคนพากย์เสียง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” เล่นมองคนละมุมแบบนี้ โปรดิวเซอร์เลยหอบโปรเจกต์กลับมาแทบไม่ทัน.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 320 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม