ดร.การดี เล่าถึงการท่องเที่ยวของลาว ว่า ทางการลาว มีการพูดถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวลาวปีที่แล้ว ประมาณ 4,100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขนี้ ก็ถือว่าโตมากถึงร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้านี้ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย กว่า 2 ล้านคน แต่เมื่อดูตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยปีต่อปี พบว่า ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเพราะเราไปเที่ยวกันบ่อยแล้ว แต่นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากขึ้น ที่มีจำนวนเข้ามา คือ เวียดนาม ยุโรป และอเมริกา ทั้งนี้ ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่บูมเรื่องการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นอะไร
ดร.การดี เล่าต่อไปอีกว่า ทั้งที่ลาวอยากมีนโยบายให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวลาวโดยเฉพาะเอเชียกับยุโรปมาพักจำนวนวันเพิ่มขึ้น ซึ่ง Asean Visiter จะเข้าพักประมาณ 8-10 วัน แต่ถ้าไปดูจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เฉลี่ยแล้ว อยู่ถึง 14 วัน จึงอยากจะทำให้นักท่องเที่ยวเอเชียอยู่นานขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อมองต่อไปว่า สำหรับนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน เวียดนาม การตัดสินใจมานั้นง่าย ก็จะลดความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจได้มากกว่า จึงอยากดึงให้อยู่นานขึ้น โดยทางลาวได้มองการลงทุนโดยวางโครงสร้างพื้นฐาน ที่โดดเด่นของลาว คือ วัฒนธรรม มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว Tourism Infrastructure Fund ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนมา 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำการเชื่อมต่อระหว่างเมืองสู่เมือง ไม่ใช่แคมเปญ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะลาวก็มีจุดท่องเที่ยวหลากหลาย นี่ก็เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่ลาวทำขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เรื่องของวัฒนธรรม แต่ความสะดวกสบายก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
ดร.การดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางการลาวยังได้มีแนวคิดจะสร้างสนามบินแห่งที่ 2 เพราะปัจจุบันสนามบินอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ จะใช้เวลาวิเคราะห์วิจัยประมาณ 2 ปี โดยจะทำให้ใหญ่กว่าเดิม และไกลออกไปทางใต้ ห่างจากเวียงจันทน์ 35 กิโลเมตร
สำหรับประเทศ บรูไน ดร.การดี เล่าว่า ตอนนี้ มีการพูดถึง Bruneit Vision 2035 โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญ คือ อาหาร โดยเฉพาะข้าว เพราะมีการพูดถึง Production ต่อปี ที่ผ่านมาลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ยังได้ตั้งเป้าว่า การเติบโตในอนาคต การพึ่งพาในการนำเข้าอาหาร ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะหากประเทศที่ส่งออกข้าวเกิดประสบปัญหา บรูไนก็จะเกิดปัญหาใหญ่อย่างชัดเจน ซึ่งวันนี้มีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้บรูไนมีความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มขีดความสามารถในเทคโนโลยีด้านอาหาร เรื่องการเพิ่ม Productivity ต่อพื้นที่เป็นสำคัญ รวมถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ บรูไนมีพื้นที่น้อย แต่ก็พยายามโปรโมทในเรื่องของความสมบูรณ์ในเรื่องธรรมชาติ ป่าเขา รูปแบบต่างๆ ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่บรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ของบรูไน คือ ระหว่างปี 2012-2017
“นอกจากบรูไนจะมีนโยบายเรื่องสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับอาหารแล้ว บรูไนยังมีการสอดแทรกเรื่องของวิธีคิด วิธีเรียน โดยเฉพาะเรื่องสอนให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งในอดีตไม่มีเรียนเรื่องแบบนี้ แต่จะสอนให้เป็นข้าราชการที่ดีมากกว่า จึงถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน”