การเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจในปัจจุบันนั้นง่ายมาก มีการจดทะเบียนที่มีจำนวนคนจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนิติบุคคลน้อยลงกว่าในอดีตอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจที่ปิดกิจการกันไปหลายกลุ่มหลายปประเภทเช่นเดียวกัน จะมีธุรกิจมากน้อยเพียงใดที่ยืนยงอยู่ได้ยาวนาน มั่นคง วันนี้ รายการ CEO VISION จึงขอไปพูดคุยกับคุณธเนศ ธรรมิกวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทวภัณฑ์ (ตั้งซี่เส็ง) ทายาทรุ่นที่ 4 ของใบชาตรานกยูง ธุรกิจชาในประเทศไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 90 ปี
คุณธเนศ เล่าให้ฟังถึงแรกเริ่มการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากธุรกิจใบชา ในซอยสำเพ็ง ย่านเยาวราช ตั้งแต่รุ่นอาก๋ง มาจากเมืองจีน ก็มาอยู่ในย่านสำเพ็ง ก็ขายมาเรื่อยจนปัจจุบันเริ่มขยายไปสู่การขายดอกไม้ประดิษฐ์ การจัดดอกไม้เพื่อตกแต่งบ้าน ซึ่งธุรกิจใบชาดั้งเดิมก็ยังมีอยู่ ทั้งนี้ วัฒนธรรมการดื่มชานั้นเปลี่ยนไปมาก เพราะจากเดิมจะมีชาอู่หลง ชามะลิ ชาทิกวนอิม ชาสุ่ยเซียน มีหลายเกรด หลายระดับ หลายราคา แต่ปัจจุบันมีมากขึ้น ทั้งชาผลไม้ ชาสมุนไพร หรือชาอื่นๆ ที่เน้นคุรประโยชน์ เช่น ดอกชา ชาขาว มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการวาง Positioning ว่าดื่มชานี้แล้วมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร
คุณธเนศ ยังกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนแพ็คเกจจิ้งว่า จะต้องทำให้แพ็คเกจจิ้งเล็กลง เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยน เริ่มอยู่คนเดียว หรือพักอยู่คอนโดฯแค่คนสองคน เมื่อก่อนจะชงชากันในกาใหญ่ๆ กินกันหลายคน ปัจจุบันจะเป็นทีแบ็คเล็กๆ ชงในแก้วใครแก้วมัน ซึ่ง Product เราก็ต้องปรับตัว แต่ในการปรับตัวต้องไม่เสียคาแรกเตอร์ของเราแต่เดิม ต้องคงจุดยืนของสินค้า ซึ่งชาของเราคือชาธรรมชาติ 100% ไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น
“ผมมารับช่วงธุรกิจต่อประมาณ 3 ปีแล้ว แต่ผมเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ก็นั่งห่อใบชากับคนงานแล้ว มีความผูกพัน คุณพ่อสอนการชิมชา การแก้ปัญหาสถานการณ์แต่ละล็อตที่เข้ามา เพราะเรามีนำเข้าสินค้ามาด้วย หลักๆ ก็นำเข้ามาจากจีน แต่ปัจจุบันก็เริ่มใช้ของไทยมากขึ้น ต้องคืนกำไรต่อสังคม เราได้มีการส่งคนไต้หวันไปช่วยสอนชาวไร่ชา ซึ่งชาไทยก็มีคุณภาพมาก ส่งออกไปขายไต้หวันมากขึ้น มีบริษัทไต้หวันมาลงทุนในไร่ดอยแม่สลองเพิ่มมากขึ้น” ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าอย่างอารมณ์ดี
คุณธเนศ เล่าต่อไปถึงอุปสรรคปัญหาที่เรียกว่าวิกฤต น่าจะเป็นเรื่องของโควตาหรือปริมาณการนำเข้าใบชา ก่อนหน้านี้บริษัทจะนำเข้า 100% แต่เมื่อมีการกำหนดโควตา หากเรายังนำเข้า 100% ก็จะทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้น จึงต้องปรับตัวใช้วัตถุดิบในประเทศแทน โดยให้คนไต้หวันไปสอนชาวไร่ทางเหนือ ว่าควรปลูกชาอย่างไรให้ได้คุณภาพ
เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอยู่มาได้ยาวนาน คุณธเนศ บอกว่า อาจเพราะรุ่นก่อนๆ ทำธุรกิจด้วยความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ก็เป็นคาแรกเตอร์ของคนจีน พอมาสมัยใหม่ก็ยังต้องคงคาแรกเตอร์เดิมแต่ต้องมีการโฆษณามากขึ้น
“คนดื่มชาก็ต้องเชื่อในสินค้า ถ้าไม่เชื่อในสินค้า รสชาติอาจจะเปลี่ยนทั้งที่คุณภาพเหมือนกัน การดื่มชาก็เหมือนดื่มไวน์เพราะมีรส สี กลิ่น และมูลค่าของสินค้าของแบรนด์นั้นๆ อย่างชาที่เมืองจีน ก็มีชาที่มีราคาเป็นแสนๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต ฤดูกาล ความอ่อนแก่ของต้นชา คนทำเป็นใคร เป็นเรื่องราวใน Product ให้คนรู้ ต้องทำให้เห็นความสำคัญว่ามีเรื่องราวแบบนี้ ถึงมีราคาสูง”
คุณธเนศ อธิบายต่อถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ว่า การปรับแพ็คเกจจิ้งก็จะเปลี่ยนแต่ไม่ทั้งหมด เปลี่ยนเป็นบางอย่าง ส่วนบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาตรานกยูง ก็จะยังคงไว้ ขณะที่การปรับให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ก็จะปรับ Positioning ให้เข้ากับความต้องการ ต้องค้นคว้า ต้องหาข้อมูลศึกษา เพื่อเสริมความต้องการของคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีการปรับสูตรตลอด แต่ต้องให้รสชาติคงเดิม
ส่วนการมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว คุณธเนศ บอกว่า ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะมีพื้นฐานและแบรนด์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว แต่ก็รู้สึกว่าท้าทายหากทำสำเร็จก็ดี พร้อมบอกอีกว่า จะพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มขยายลูกค้าใหม่ๆ ไปด้วย เช่น การขายออนไลน์ และการทำ Tea Garden คือ จะคล้ายๆ Tea Room มีการเลือกผสมเองได้ ชงกินกัน มี Meeting Room กัน เพราะเดี่ยวนี้ คนต้องการความหลากหลายในรสชาติ อยากลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอรสชาติที่ชอบ
คุณธเนศ อธิบายอีกว่า ในระยสั้น จะทำแบรนดิ้งให้มากขึ้น เพราะการทำแบรนดิ้งก็เหมือนแม่เหล็กดึงคนเข้ามา และทำการขยาย sale channel คือ การผลักสินค้าออกไป ต้องทำสองอย่างพร้อมๆ กัน ต้องทำแบรนด์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ต้องผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าไปตามสถานการณ์ด้วย
“ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยั่งยืน แม้จะอยู่เกือบ100 ปี ก็สามารถล้มได้ จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และเราต้องมองไปรอบๆ มองไปยังอุตสาหกรรมอื่นที่พอจะขยายโอกาสไปได้ด้วย ลูกค้าเก่ารักษาไว้ให้ดี ลูกค้าใหม่ค่อยๆ สร้าง และราคาไม่แพง ไม่ใส่สี ใส่กลิ่น รสชาติดั้งเดิม ดื่มได้ทุกวัน นี่คือ ชาตรานกยูง”
คุณธเนศ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สำหรับคนที่มีธุรกิจส่วนตัวจากรุ่นพ่อแม่ ถือว่าโชคดี ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สิ่งที่ตามมาคือวัฒนธรรม เพราะทีมงานในรุ่นพ่อ มาสู่ รุ่นลูก ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น นอกจากเราจะมีความรู้แล้ว ยังต้องมี solf skill (พัฒนาทรัพยากรบุคคล)ในการจัดการคนด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงคนนั้นยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย ทำให้เขายอมรับเรามากขึ้น แล้วจะเดินหน้าไปได้เอง
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.posttoday.com/
เรื่อง : อริสรา ประดิษฐสุวรรณ