แม้ข่าวการเกิดเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางความสูญเสีย ชีวิตของคนที่ยังอยู่ก็ต้องดำเนินต่อไป ชีวิตที่ต้องอยู่ให้ได้ อย่างเช่น จ.ยะลา ดินแดนใต้สุดสยามอันไร้พรมแดนติดทะเล ที่เรายังคงได้ยินข่าวการลอบวางระเบิด ลอบยิงชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ แต่จริง ๆ แล้ว จะรู้หรือไม่ว่า ยะลาไม่ได้มีแค่ความน่ากลัว หรือความไม่ปลอดภัย ยะลายังมีความงดงามของธรรมชาติ ความแช่มชื่นสดใสของวิถีชุมชน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ลงตัวและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข กลับถูกบดบังไว้หลังภาพความสูญเสียเหล่านั้น
“ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” นั่นคือ คำขวัญประจำจังหวัดยะลา ที่ประกอบไปด้วย 8 อำเภอ คือ เมืองยะลา ธารโต บันนังสตา ยะหา รามัน เบตง กรงปินัง และกาบัง
แต่ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้เราสามารถหาได้ไม่ยากจากแหล่งข้อมูลหลากหลายทั้งหนังสือ หรืออินเตอร์เน็ต การหาข้อมูลในแบบนั้นก็เพียงข้อมูลผิวเผิน หากเราจะซึมซับและเข้าถึงได้อย่างแท้จริง คงต้องลงพื้นที่สักครั้งเพื่อสัมผัสความเป็นอยู่ วิถีชุมชน และวัฒนธรรมของคนยะลาอย่างใกล้ชิด
และแล้ว…โอกาสก็มาถึง เราได้รับโอกาสอันดี ได้ร่วมการเดินทางเยี่ยมเยียนจังหวัดยะลา โดยเริ่มต้นจากสนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา มุ่งหน้าจังหวัดยะลา ท่ามกลางแดดร้อนให้พอแสบผิวหนังบาง ๆ ที่เราไม่แยแสกับความร้อนนั้น เราจึงยังไม่เข้าเมืองยะลา แต่กลับเลือกเข้าถ้ำ …ถ้ำเสือ-ถ้ำศิลป์
การเดินทางเยือนถ้ำเสือ-ถ้ำศิลป์ ที่คนยะลาบอกว่าไม่ไกลจากวัดคูหาภิมุข หรือวัดหน้าถ้ำ ใช้เส้นทางเดียวกัน แต่เดินทางต่อจากวัดหน้าถ้ำไปอีก 2 กม.จากเชิงเขา มีบันไดให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปยังปากถ้ำถึง 130 ขั้น ความสูง 28 เมตร ซึ่งภายในถ้ำมีจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับคำบอกเล่าว่า มีภาพคนล่าสัตว์ เขียนด้วยสีดำและจิตรกรรมสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาพพระพุทธประวัติ ตอนธิดาพระยามารยั่วยวนพระพุทธเจ้า ภาพนี้มีขนาดยาว 8 เมตร สูง 5 เมตร
แต่…สภาพจิตรกรรมเบื้องหน้าที่เราเห็น แทบมองไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร ค่อนข้างลบเลือน ซึ่งจิตรกรรมที่ว่านี้ได้รับการยกย่องว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นงานศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยชิ้นเดียวที่เป็นภาพจิตรกรรม เรามองจ้องเข้าไปในภาพนิ่ง ๆ แม้มองเห็นภาพที่เลือนลาง แต่เราสัมผัสได้ถึงประวัติศาสตร์อันเก่าแก่นั้น ละสายตาจากภาพประวัติศาสตร์ เราเดินต่อไปอีกหนึ่งถ้ำที่มีความงดงามไม่น้อยไปกว่ากัน ยิ่งเดินลึกเข้าไปยิ่งสวยงาม ความแพรวพราวแวววาวของหินงอกหินย้อย คล้ายกับใครนำเพชรพลอยมาแปะไว้ที่หิน นอกจากจะสัมผัสความสวยงามผ่านสายตาแล้วยังได้สัมผัสความเย็นภายในถ้ำ ที่บางจุดมีสายลมพัดแผ่ว ๆ ให้พอได้กลิ่นไอแห่งธรรมชาติ กายสัมผัส จิตระลึก ความงดงามอยู่ไม่ไกลจริง ๆ
ก่อนจะหลงใหลความงามของธรรมชาติไปมากกว่านี้ เราจึงเดินทางต่อ… มุ่งหน้าไปยัง อ.เบตง อำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี และเมื่อมาถึงเบตง พูดถึงหมอก ก็ต้องที่นี่ ! ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเบตง เรามากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ฟ้ายังไม่สว่าง แต่…หมอกหนาเริ่มปกคลุมยอดเขา ความบางเบาของหมอก ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังล่องลอยอยู่บนฟ้า ยอดไม้นิ่งไม่ไหวติง คล้ายกำลังส่งสัญญาณบางอย่าง แต่เราก็ไม่ได้เอะใจ ยังคงเดินชมความนุ่มนวลของหมอกบางเบา เดินขึ้นไปยังอาคารชมวิว แต่แล้วก็ต้องพบกับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต่างจับจองพื้นที่ที่ใกล้หมอก จัดฉากภ่ายภาพกันอย่างสนุกสนาน จนลืมเผื่อแผ่แบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้มาใหม่บ้าง
เรารีบถ่ายภาพความทรงจำเก็บไว้อย่างรวดเร็วก่อนเดินคอตกลงมาเพราะเก็บภาพได้น้อยมาก เดินลงมาข้างล่างได้ไม่ถึง 5 นาที จู่ ๆ ฝนก็เริ่มลงเม็ดเล็ก ๆ จนใหญ่ขึ้น ๆ และเริ่มตกลงมาซู่ใหญ่ สุดท้ายก็ต้องรีบวิ่งไปหลบบนรถตู้ รอจนฝนซาก็ลงมา อนิจจา! หมอกสลายกลายเป็นละอองฟุ้งทั่วพื้นที่ จนนึกว่าตาเรามัว หรือหมอกทำให้มัวมองแทบไม่เห็นทาง เพียงพริบตาหมอกหนานุ่มดั่งปุยสำลีขาวก็หายไป เราจึงเริ่มเคลื่อนย้ายออก แต่…สายตาเหลือบเห็นข้างทางมีร้านขายอาหารเช้า โจ๊ก ข้าวต้ม ไก่ย่าง ข้าวต้มมัด อยากจะบอกว่า ไม่ได้หิวนะ แต่ลองเสียหน่อย ไก่ย่างอัยเยอร์เวง!
จบลงด้วยไก่ย่างสุดฟิน เรากลับที่พัก และเตรียมตัวเดินทางไปยังสวนไม้ดอกเมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้ของประเทศไทย “สวนหมื่นบุปฝา” ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง เป็นโครงการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำแนวทางปลูกไม้เมืองหนาวขึ้นเมื่อครั้งเสด็จเยือนครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2537 เนื่องจากบริเวณหุบเขาส่วนนั้นอากาศหนาวปลูกยางพาราไม่ได้ผล เป็นโครงการที่ช่วยให้ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"และอดีตชาวจีนมาลายูที่ตั้งเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียอยู่ในแดนไทยเขตเบตงสมัยก่อนที่ออกจากป่ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้มีรายได้และช่วยกันสร้างชาติไทย
ท่ามกลางแดดที่ร้อนจนแสบผิวแต่เราก็ยังเดินชื่นชมความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวอย่างไม่รู้เหนื่อยและไม่รู้เบื่อ ดอกไม้บางชนิดที่เราเองก็ไม่รู้จักชื่อ ชื่นชมจนเพลินตา เพลินใจ แล้วก็ต้องตัดใจเดินทางต่อไปยังอุโมงค์ปิยะมิตร
อุโมงค์ปิยะมิตร สร้างขึ้นเป็นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เขต 2 เมื่อปี พ.ศ. 2519 ใช้หลบการโจมตีทางอากาศและสะสมเสบียง 0ใช้กำลังคน 40 – 50 คน ขุดเข้าไปในภูเขา โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถจุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง ภายในมีสถานีวิทยุ ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง มีซอกมีมุมให้เลี้ยวลัดเลาะ ด้านบนเป็นป่ารกมีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุม ยากแก่การค้นหาและถูกค้นพบโดยทหารฝ่ายรัฐบาล ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 16.30 น. การท่องเที่ยวอุโมงค์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีการติดตั้งไฟฟ้าตลอดแนวอุโมงค์ อากาศภายในเย็นสบายไม่อึดอัด บริเวณทางเข้าสองข้างทางเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ และมีแอ่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขา ด้านนอกอุโมงค์ซึ่งเคยเป็นลานฝึกทหารจัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพและเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในป่า
หลังจากเดินออกมาจากอุโมงค์ให้พอเหงื่อซึม ๆ เราก็แอบมานั่งพักหลบร้อนกันสักครู่ นั่งมองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอุโมงค์ประวัติศาสตร์แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่จะเดินทางมาเป็นกลุ่มใหญ่ ถือเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่เฉพาะแต่คนไทยกันเอง แต่นักท่องเที่ยวในอาเซียนหากมาเยือนเบตงก็ต้องมาอุโมงค์แห่งนี้
ออกจาก อ.เบตง อย่างเงียบหงอย เพราะใจจริงยังอยากอยู่ซึมซับอากาศบริสุทธิ์อีกหลายวัน แต่ด้วยข้อจำกัดแห่งเวลาและภารกิจ จึงต้องถอนหัวใจที่ปักหลักลงไปแล้ว ออกมาช้า ๆ เพื่อไม่ให้เลือดพุ่ง อาจมีเพียงไหลซึม ๆ เราเบือนหน้าหนีเมืองอันแสนงดงามมาอย่างยากลำบาก มุ่งหน้าต่อไป เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลาง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ สร้างกั้นแม่น้ำตาปีที่บ้านบางลาง ตัวเขื่อนเป็นแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 422 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 1,420 ลบ.ม. บริเวณเหนือเขื่อนมีศาลาชมวิว มองเห็นทัศนียภาพ งดงาม มีบ้านพักรับรองหลายแบบ รวมถึงมีบริการล่องแพชมทิวทัศน์เหนือเขื่อน ใช้เวลาล่องประมาณ 4 ชม. แต่…น่าเสียดายที่วันนั้น เราไม่อาจล่องเรือได้เพราะน้ำแห้งในรอบ 35 ปี จึงทำได้เพียงยืนมองเก็บบรรรยากาศอันงดงามตากับความเขียวขจีบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
จากเขื่อนบางลาง เคลื่อนขบวนเข้าสู่ตัวเมืองยะลา เมืองที่ยังมีความคึกคัก ไม่ต่างจาก อ.เมืองในจังหวัดอื่น ๆ ยามกลางวันผู้คนสัญจรไปมาบนท้องถนนค่อนข้างหนาแน่น การจราจรติดขัดไม่ต่างจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่มีงานพิเศษประจำจังหวัด เช่น งานมหกรรมผลไม้และของดีเมืองยะลา ประจำปี 2559 ที่เริ่มด้วยการแห่ขบวนของแต่ละอำเภอ สาวงาม และรถที่ตกแต่งด้วยผลไม้และของดีขึ้นชื่อของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการตลาดผลไม้ของจังหวัดยะลา ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดยะลาดีขึ้น ส่งผลดีต่อราคาผลไม้และรายได้ของเกษตรกร และประชาชนทุกสาขาอาชีพ ผลไม้ที่มีชื่อเสียง และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดยะลา ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ส้มโชกุน
แม้ในยามค่ำคืน ผู้คนสัญจรบนท้องถนน อาจไม่มากเท่ากลางวัน แต่ยังคงมีการเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่าง ๆ อย่างปกติ หรือบางแห่งอาจเรียกได้ว่า มีผู้คนหนาแน่น อย่างเช่น ร้านโรตีห้าแยก ร้านดังที่ใครมาเที่ยวจังหวัดยะลาก็ต้องมาเยือน มาลองชิมเมนูเด็ด ๆ สักครั้ง
วันนี้ อากาศค่อนข้างร้อน เราอยากเลือกโต๊ะริมถนน แต่ไม่มีโต๊ะไหนว่างสำหรับเรา จึงจำใจต้องเลือกนั่งด้านใน แต่ให้ใกล้ถนนที่สุด ความร้อนยังอบอวลทั่วพื้นที่ เราเริ่มหยิบเมนูสั่งโรตี ชาชัก ชาร้อน ตุงกัตอาลี (กาแฟร้อนเข้ม) ชาเย็น ชาเขียว หลากหลายเมนูที่สั่งออกไป เพียงแค่อยากลองชิม ขณะรออาหารที่สั่งไป เราก็นั่งสังเกตผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาในร้าน บ้างมาเป็นคู่หนุ่มสาว บ้างมาเป็นครอบครัว บ้างมาเป็นหมู่คณะเพื่อนฝูง หลากหลายแบบ หลากหลายสไตล์ ที่เวียนกันเข้ามาสั่ง แล้วก็กลับไป วิถีชีวิตที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เปลี่ยนแปลง ดูเหมือนตรงข้ามกับข่าวที่เรามองเห็นและได้ยินจากสื่อต่าง ๆ
“ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” คำขวัญจังหวัดยะลา ที่ยังเหมาะเจาะลงตัวและใช่เลย ความงามยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพียงแต่บางครั้งบางคราอาจถูกบดบังจากคราบเขม่าดินปืน หรือควันแห่งความคิดต่างที่ปกคลุมจนแทบมองไม่ชัด …คงต้องรอวันที่กลุ่มควันแห่งความไม่เข้าใจกระจายเลือนหายไป เพื่อให้ได้เห็นความงดงามของจังหวัดยะลาและจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมความสงบสุขจะคืนกลับมา สักวัน!
อริสรา ประดิษฐสุวรรณ เรื่อง
นฤปาณ ภัทรสิทธิสกุล ภาพ