พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เพลิน พรหมแดน คนบันเทิงร่วมอาลัย

นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการลูกทุ่งไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี 2555 “เพลิน พรหมแดน” เจ้าของฉายา “ราชาเพลงพูด” ถึงแก่กรรมอย่างสงบจากภาวะหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลศิริราช เวลา 11.10 น. ของวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา สิริอายุรวม 85 ปี โดยเลขานุการของ “เพลิน พรหมแดน” แจ้งว่า ครูเป็นลมล้มเมื่อช่วง 11 โมง ของวันดังกล่าว จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช เข้าห้องฉุกเฉิน แพทย์ปั๊มหัวใจยื้อชีวิตก่อนจะจากไปอย่างสงบ


โดยวันนี้ (13 สิงหาคม 67) เวลา 15.00 น. มีพิธีรดน้ำศพต่อด้วยพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและกำหนดสวดพระอภิธรรมเป็นลำดับต่อไป ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ (ศาลาสารัชถ์-นลินีรัตนาวะดี) วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน งานนี้มีเหล่าศิลปินร่วมวงการมาร่วมไว้อาลัยมากมาย “อ.ประยงค์ ชื่นเย็น, อ.แดน บุรีรัมย์, อ.ไพฑูรย์ ขันทอง, จรินทร์ เกตุแดง, วิลลี่ ผีก้าบก้าบ, เทพ โพธิ์งาม, น้อย โพธิ์งาม” และอีกมากมาย

ประวัติ “ครูเพลิน พรหมแดน” หรือชื่อจริง “สมส่วน พรหมสว่าง” เกิดวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ที่ อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันแยกออกมาเป็นจังหวัดสระแก้ว) จบการศึกษาชั้น ป.4 จากนั้นบรรพชาเป็นสามเณรจนสอบได้นักธรรมโทจึงลาสิกขาบทออกมาช่วยบิดามารดาทำนาอยู่ที่บ้านเกิด “เพลิน พรหมแดน” ได้ประกวดร้องเพลงตามงานต่าง ๆ จากนั้นเข้ามาร้องเพลงเชียร์รำวงในคณะรำวง “คณะตาเหมือน” เมื่อไปสมัครประกวดร้องเพลง “เพลิน พรหมแดน” ก็ได้รางวัลชนะเลิศก่อนก้าวเข้าสู่วงการดนตรี ภายใต้สังกัดในคณะวงดนตรีชุมนุม หัวหน้าวงดนตรี คือ “จำรัส วิภาตะวัต” ที่เปลี่ยนชื่อจาก “สมส่วน พรหมสว่าง” มาเป็น “เพลิน พรหมแดน” จนได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตเพลง “ทุ่งร้างนางลืม”


“เพลิน พรหมแดน” มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากมายทั้งบุญพี่ที่น้องรัก, คนไม่มีดาว, อย่าลืมเมืองไทย, อาตี๋สักมังกร ที่มีท่อนร้องว่า เพี้ยง จึก จึก จึก จึก จึก, ให้พี่รวยเสียก่อน แนวเพลงที่ทำให้ “เพลิน พรหมแดน” ประสบความสำเร็จ เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและคำพูดในแนวตลกสนุกสนานจนได้รับสมญานามว่า ราชาเพลงพูด “เพลิน พรหมแดน” ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2555 และเป็นศิลปินเพลงลูกทุ่งชาวไทย ที่ได้รับสมญานาม ขุนแผนลูกทุ่ง, ราชาเพลงพูด และสุภาพบุรุษลูกทุ่ง .-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 216 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม