จากกรณี บอล ต่อพงศ์ จันทบุบผา มือกีตาร์วง scrubb(สครับบ์) โพสต์เดือดกลางโซเชียล ฟาดคนที่เอาเพลงของวงไปร้องในคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ โดยไม่ขออนุญาตก่อน พร้อมแปะบทความให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลง ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันนี้(22 เม.ย.67) บอล ชี้แจงเรื่องการขออนุญาตใช้เพลงในการแสดง “เพื่อการหารายได้” ในต่างประเทศ โดยละเอียดอีกครั้งเกี่ยวกับการแสดงคอนเสิร์ตที่มีการจำหน่ายบัตรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีการประกาศขายบัตร มีการโฆษณา มีการเตรียมการก่อนอย่างยาวนาน และมีการประกาศเป็นทางการ หากมีการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์เป็นของผู้อื่น “โดยมารยาท” ผู้ใช้ต้องขออนุญาตผ่านตัวแทนจัดเก็บจากประเทศของตนเอง เพื่อทำการติดต่อประสานกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศเพื่อขออนุญาตนำไปใช้การแสดง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้น ผู้จัดรวมถึงผู้แสดง ไม่ได้ทำการติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเพื่อขอนุญาตในการนำไปใช้หารายได้ แต่เป็นเพียงการแจ้งเพลงที่ต้องการใช้ในการแสดง โดยมารยาทไม่ควรมีสิทธิ์ในการอนุญาตให้นำไปใช้ โดยปราศจากการได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นทาง จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด คาดหวังว่าเป็นเพียงสิ่งที่พวกเราควรจะต้องช่วยกันทำให้มันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่สำคัญ “การสื่อสาร” และพูดจากันด้วยความเข้าใจ เป็น”มารยาท” ที่ดีในฐานะเพื่อนพี่น้องในอุตสาหกรรมเดียวกัน
โดย บอล ได้โพสต์ข้อความดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก Torpong Chantabubpha ระบุว่า “สวัสดีครับ ขออนุญาตชี้แจงเพิ่มเติม เรื่องการขออนุญาตใช้เพลงในการแสดง “เพื่อการหารายได้” ในต่างประเทศนะครับ *** เหตุการณ์สมมุติ ว่าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น – ตัวแทนจัดเก็บและดูแลลิขสิทธิ์ของผู้ประพันธ์ในประเทศไทยมีองค์กรที่ชื่อว่า “MCT” ซึ่งปัจจุบัน ผมเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารในชุดปัจจุบัน – MCT อยู่ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรจัดเก็บระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า SESAC – พันธมิตรในการดูแลจัดเก็บในประเทศญี่ปุ่นมีชื่อว่า JASRAC – การจัดเก็บโดยทั่วไป ทำได้โดยจัดเก็บจากการใช้เพลงในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการประชาสัมพันธ์ การเปิดเพลงในที่สาธารณะ การนำเพลงไปใช้การแสดงโดยปราศจากการหารายได้ หรือรวมว่าเป็นการใช้งานโดยง่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กรจัดเก็บดูแลเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว –แต่ไม่ได้หมายรวมถึงการแสดงคอนเสิร์ตที่มีการจำหน่ายบัตรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีการประกาศขายบัตร มีการโฆษณา มีการเตรียมการก่อนอย่างยาวนาน และมีการประกาศเป็นทางการ
สิ่งนี้หากมีการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์เป็นของผู้อื่น “โดยมารยาท” ของการจัดเก็บ ผู้ใช้ต้องขออนุญาตผ่านตัวแทนจัดเก็บจากประเทศของตนเอง (ในที่นี้คือ MCT) เพื่อทำการติดต่อประสานกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศเพื่อขออนุญาตนำไปใช้การแสดง “หากได้รับอนุญาต” แล้ว MCT จึงประสานต่อไปให้ตัวแทนจัดเก็บที่เป็นพันธมิตรในเครือ (ในที่นี้คือ JASRAC) เพื่อการทำการจัดเก็บตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่ได้ตกลงกันจากต้นทางของประเทศนั้น ๆ แต่ในกรณีที่เกิดขึ้น ผู้จัดรวมถึงผู้แสดง ไม่ได้ทำการติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเพื่อขอนุญาตในการนำไปใช้หารายได้ แต่เป็นเพียงการแจ้งเพลงที่ต้องการใช้ในการแสดง และประสานให้ JASRAC ทำการอนุญาตและจัดเก็บตามขั้นตอนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในบริบทนี้ JASRAC ควรมีเพียงมีหน้าที่จัดเก็บ และโดยมารยาทไม่ควรมีสิทธิ์ในการอนุญาตให้นำไปใช้ โดยปราศจากการได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นทาง หรืออย่างน้อยก็ควรจะต้องทำการดับเบิ้ลเช็กความถูกต้องในการขอลิขสิทธิ์จากต้นทางก่อน ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องแล้วหรือยัง
จริง ๆ การแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศของศิลปินไทยเริ่มได้รับความนิยมและมีการจัดงานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละครั้งที่ผ่านมาทีมงานผู้จัดที่มีความเป็น”มืออาชีพ” และมี “ประสบการณ์” จะไม่ละเลยในการขออนุญาตการใช้สิทธิ์จากต้นทาง ก่อนที่จะประสานให้ตัวแทนจัดเก็บในต่างประเทศนั้น ๆ เป็นคนดำเนินการต่อ ไม่เคยมีการอนุญาตให้จัดเก็บโดยพละการจากตัวแทนจัดเก็บของประเทศปลายทางนั้น ๆ มาก่อนแต่อย่างใด – มองภาพให้ง่ายขึ้น หากมีการจัดคอนเสิร์ตขึ้นในประเทศไทย หากผู้จัดหรือศิลปินต้องการใช้เพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การขออนุญาตจะเกิดขึ้นจากผู้จัดไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงดำเนินการให้ MCT จัดเก็บในส่วนที่ถูกต้องต่อไป ไม่ใช่ MCT มีสิทธิ์หรือเป็นผู้อนุญาตให้ใช้เพลงนั้น ๆ เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ผมชี้แจงและอธิบายข้างต้นนี้ เป็นเพียงข้อมูลเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในมุมมองที่ถูกต้องและควรจะเป็น จากการให้เกียรติและเคารพในกฎหมายลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญานะครับ และเพื่อป้องกัน “ข้อมูลอื่น ๆ” ที่ทราบว่ากำลังจะประกาศชี้แจงออกมาจากช่องทางอื่น ทางเราไม่เคยมีนโยบายในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เกินจริง และไม่เคยเก็บลิขสิทธิ์เพลงของเราในการใช้เพื่อการศึกษา งานมงคลสมรสและงานรื่นเริงต่าง ๆ แม้แต่ครั้งเดียว หรือแม้แต่การใช้เล่นในสถานที่ต่าง ๆ สำหรับพี่ ๆ น้อง ๆ นักดนตรีในบ้านเรา สิ่งเหล่านี้ถูกดูแลและจัดเก็บโดย MCT อย่างถูกต้องและเป็นธรรมอยู่แล้ว โดยไม่มีผลกระทบต่อผู้ที่ทำการแสดงดนตรีแต่อย่างใด หากเราไม่ได้นำลิขสิทธิ์เหล่านั้นไปใช้หาประโยชน์ “ส่วนตน” ในทางอื่น ๆ เช่นการแสดงคอนเสิร์ตของตัวเอง หรือการไปจัดแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ เป็นต้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นความรู้ลิขสิทธิ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พวกเราควรจะได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อม ๆ กันนะครับ จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด คาดหวังว่าเป็นเพียงสิ่งที่พวกเราควรจะต้องช่วยกันทำให้มันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่สำคัญ “การสื่อสาร” และพูดจากันด้วยความเข้าใจ เป็น”มารยาท” ที่ดีในฐานะเพื่อนพี่น้องในอุตสาหกรรมเดียวกัน ขอบคุณครับ* ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเหตุการณ์สมมุติที่แต่งขึ้น Balloop 🌸” ซึ่งก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นกันอย่างเนืองแน่น.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน