วงการบันเทิงมีเรื่องร้อนมากระตุกต๋อมอยากรู้อยากเห็นของขาเผือกอีกแล้ว เมื่อจู่ ๆ บอล ต่อพงศ์ จันทบุบผา มือกีตาร์วง scrubb(สครับบ์) โพสต์เดือดกลางโซเชียล ฟาดคนที่เอาเพลงของวงไปร้องในคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ โดยไม่ขออนุญาตก่อน
โดย บอล ได้โพสต์ฟาดคนที่เอาเพลงของวงไปเล่นในต่างประเทศ ผ่านอินสตาแกรมสตสตอรี่@balloop ระบุว่า “มี Live stream ก็ต้องขออนุญาตเช่นกันครับ #fy! เล่นเพลงคนอื่นในต่างประเทศก็ต้องขออนุญาตนะครับ #fyi” ก่อนจะมีการแชร์ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ” รู้หรือไม่? เพลงหนึ่งเพลงมีลิขสิทธิ์อะไรประกอบอยู่บ้าง
วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันว่า ‘เพลง’ มีลิขสิทธิ์อะไรเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ใครเป็นผู้ดูแล ครอบคลุมถึงส่วนไหน และเราจะจัดการกับลิขสิทธิ์เหล่านี้ยังไง ‘เพลง’ ในโลกยุคดิจิทัลนี้จะมีลิขสิทธิ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ 3 สิทธิคือ งานสิ่งบันทึกเสียง (Sound Recording) งานดนตรีกรรม (Musical Work) และสิทธินักแสดง (Performer Right) ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องต่างๆ ภายใต้หัวข้อนั้นๆ และมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ .งานสิ่งบันทึกเสียง (Sound Recording) – ลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบันทึกเสียง หรือที่เรามักเรียกกันว่างานมาสเตอร์ของเพลง จะมี Music Distributor อย่าง Believe คอยเป็นผู้ดูแลสิทธิ์ในส่วนนี้ให้ ซึ่งโดยส่วนมากเจ้าของสิทธิ์จะเป็นศิลปินหรือค่ายเพลง ส่วนในบางกรณีที่เพลงนั้นๆ มีผู้ว่าจ้างผลิตเพลง สิทธิในสิ่งบันทึกเสียงนี้อาจเป็นของผู้ว่าจ้างก็เป็นไปได้เช่นกัน เช่น เพลงโฆษณาหรือเพลงประกอบภาพยนต์ ละคร ซีรีย์ การ์ตูนต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ว่าจ้างกับศิลปิน โดยที่ Music Distributor จะเข้าไปดูแลสิทธิเหล่านี้บนโลกดิจิทัลให้กับเจ้าของสิทธิ เก็บรายได้ (Claim) กลับสู่เจ้าของสิทธิหรือระงับการใช้งาน (Block) มาสเตอร์เพลงนั้นๆ ตามหลักการสากลและความเหมาะสมในแต่ละกรณี”
“งานดนตรีกรรม (Musical Work) – ลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองเพลง รวมถึงบริษัท Publishing ที่เข้ามาช่วยดูแลสิทธิ์นี้ให้กับนักแต่งเพลงทั่วโลก โดยลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมก็จะมีองค์กรนักแต่งเพลง หรือที่ในวงการเพลงเรียกว่า Collective Management Organizations (CMOs) เข้ามาดูแล ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีองค์กรในลักษณะนี้คอยดูแลอยู่.สิทธินักแสดง (Performer Right) – สิทธิส่วนนี้จะเป็นการดูแลถึงการแสดงของศิลปินหรือนักแสดง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนเต้นท่า Moon Walk ของ Michael Jackson แล้วเรานึกถึง Michael นั้นคือสิทธิที่สามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งถึงแม้ลิขสิทธิ์ส่วนนี้จะมีระบุอยู่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย แต่การดำเนินงานโดยส่วนใหญ่ยังคงถูกรวมไปกับงานสิ่งบันทึกเสียง เนื่องจากตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่มากำกับดูแลลิขสิทธิ์ในส่วนนี้นั้นเอง**ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2565 #believeTH #believe #MusicInsights #MusicCopyright”
ทั้งนี้ทีมข่าวไนน์เอ็นเตอร์เทนสอบถามฝ่ายประชาสัมพันธ์ What the duck ซึ่งเป็นค่ายต้นสังกัดของวง scrubb เพื่อสอบถามเรื่องนี้ ทางประชาสัมพันธ์ค่ายแจ้งว่าตอนนี้ บอล อยู่ญี่ปุ่น จะดำเนินการสอบถามเรื่องนี้ต่อไป ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า “ลิขสิทธิ์เพลงของวงสครับบ์ต้องขออนุญาตจากใคร?” ประชาสัมพันธ์ค่ายตอบกลับมาว่าบอลเป็นคนดูแลลิขสิทธิ์.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน