ช็อก! “เพชร โอสถานุเคราะห์” เจ้าของเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” เสียชีวิตแล้ว คาดเพราะหัวใจวายเฉียบพลัน

ถือเป็นข่าวเศร้าช็อกวงการเพลง สำหรับข่าวการจากไปอย่างไม่วันกลับของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” อดีตนักร้องชื่อดัง และอดีตผู้บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) วัย 69 ปี ที่ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค.2566ที่ผ่านมา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ญาติพี่น้องเตรียมนำร่างของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ไปบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาพีชานนท์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ และจะมีการแถลงข่าวช่วงบ่ายวันนี้


“เพชร โอสถานุเคราะห์” เป็นอดีตนักร้องที่โด่งดังมีผลงานที่เป็นที่รู้จักในเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) นอกจากนี้เพชรยังเคยเป็นรองประธานกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2497 เป็นบุตรชายของนายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนางปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์จบการศึกษาด้านการตลาด จาก Southern Illinois University ต่อมากลับมาทำงานโฆษณา ก่อนออกผลงานเพลง ผลงานอัลบั้มแรกชุด “ธรรมดา…มันเป็นเรื่องธรรมดา” มีเพลงดังอย่าง ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ ในปี 2530 “เพชร” เป็นทั้งศิลปินและนักธุรกิจหัวก้าวหน้า ผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับโฉมธุรกิจ เป็นผู้ก่อตั้งเอเจนซี่โฆษณา Spa Advertising (ปัจจุบันคือ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด)  และ ก่อตั้งนิตยสารผู้หญิงรวมถึงรายการโทรทัศน์ผู้หญิงวันนี้ ที่โด่งดังในยุค 80’s –90’s  เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) โดย อ.เพชร เป็นผู้นำทัพปรับโฉมองค์กรและนำโอสถสภาเข้าตลาดหุ้น เพชรกลับเข้าวงการเพลงอีกครั้งหลังจากหายหน้าไปร่วม 20 ปี มีผลงานอัลบั้มที่ 2 Let’s Talk About Love ที่ได้ผู้กำกับมิวสิกวิดีโออย่าง เป็นเอก รัตนเรือง, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง, อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล มาร่วมทำ โดยมิวสิกวิดีโอแต่ละชิ้นมีงบประมาณราว 20,000 ถึง 1 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2551 ได้นำผลงานชุดแรกไปรีมาสเตอร์ที่ประเทศอังกฤษ และนำกลับมาวางจำหน่ายใหม่ นอกจากนี้ “เพชร” ยังเคยแต่งเพลง “หมื่นฟาเรนไฮต์” ให้ “วงไมโคร” ด้วย

ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ อ.นฤมล โอสถานุเคราะห์ มีบุตรชาย 2 คน คือ คุณภูรี และ คุณภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ปัจจุบัน “เพชร” ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ชิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด และ อธิการบดีสุดเฟี้ยวของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ให้นิยาม “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์” พร้อมทั้งสร้างแลนด์มาร์กอย่าง BU Diamond หรือ ตึกเพชร ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังชื่นชอบงานศิลป์โดยเฉพาะงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) โดยกำลังทำโครงการด้านศิลปะวัฒนธรรมและการศึกษาที่มีชื่อว่า “โครงการ Dib Bangkok” หรือ Dib Bangkok Museum of Contemporary Art ที่มีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานของวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาของประเทศต่อไป.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน


เข้าชม 299 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม