2 ผกก. “อ๊อด-ปรัชญา” เผยงานกองถ่ายเป็นงานหนัก กระทบสุขภาพทีมงานระยะยาว ลั่นฉากเด็กต่ำกว่า 15 ปีร้องไห้ ไม่ใช่การทารุณกรรม

อ๊อด บัณฑิต ทองดี – ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ชื่อดังของประเทศไทย เปิดใจกับไนน์เอ็นเตอร์เทนถึงกรณีการยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ทำงานในกองถ่ายโดยสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) โดยที่ผ่านมาแรงงานในกองถ่ายต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกองถ่าย ได้แก่ ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการผลิตสื่อ, ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน, ความปลอดภัยในการทำงาน และการไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม จนที่ผ่านมาคนกองถ่ายต้องอุทิศชีวิตเพื่อรูปแบบการทำงานในปัจจุบันหลายราย


“ปรัชญา ปิ่นแก้ว” เปิดใจถึงเรื่องระยะเวลาในการทำงานในกองถ่ายของประเทศไทย ส่วนใหญ่ใช้เวลาต่อวันคือ 12 ชั่วโมง แม้จะเป็นเวลาที่ค่อนข้างนาน แต่ก็ถือเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกทำเหมือนกัน ซึ่งการทำงานในรูปแบบเวลาดังกล่าวในวันถัดไปของการนัดกอง อาจจะอนุญาตให้มีการนัดหมายที่ล่าช้ากว่าเดิมเพื่อให้ทีมงานได้พักผ่อน หรือแม้บางวันอาจจะล่วงเลยเวลามากกว่า 12 ชั่วโมงหลายวันติดต่อกัน ก็อาจเป็นการตกลงร่วมกันแล้วของคนทำงาน เพราะไม่ได้ทำติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายวัน ส่วนทางออกที่หลายคนมองว่าการให้ค่าล่วงเวลาในการทำงาน ผู้กำกับคนดังเผยว่า อาจจะต้องมีการตกลงกันตั้งแต่แรก แต่คิดว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการออกมาเรียกร้องของคนกองถ่ายในครั้งนี้

ขณะที่ “อ๊อด บัณฑิต” ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การทำงานตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการทำงานของกองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิควิดีโอ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 12 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่สำหรับละครอาจจะสูงสุดอยู่ที่ 16 ชั่วโมง แม้จะไม่ถูกต้องแต่ก็เป็นระยะเวลาที่ทำติดต่อกันมาจนเป็นเรื่องปกติของคนทำงานในสายนี้ ซึ่งผู้ที่มาทำงานอาจจะต้องเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำให้สาเหตุของการเกิดประเด็นดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยทำร่วมงานเฉพาะกับกองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิควิดีโอ แต่ไม่เคยทำงานงานกองละคร เลยอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวกับเงื่อนไขนี้ได้ การทำงานหนักและกินเวลานาน ๆ ยอมรับมีส่วนที่ทำให้ฟันเฟืองสำคัญของกองถ่ายต่างได้รับผลกระทบในด้านสุขภาพ ซึ่งบางรายก็ถึงกับเสียชีวิตเลยทีเดียว


ส่วนการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีในกองละคร ที่อาจจะมีฉากที่ให้เด็กร้องไห้ ซึ่งบางกองอาจมีการดุหรือจับเด็กเขย่าเพื่อเรียกน้ำตาออกมาก่อนถ่ายทำจริง รวมถึงบางฉากที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กมากจนเกินไป อ๊อดมองว่าการทำงานแสดง หากบทบาทในเรื่องเป็นเด็ก ก็จำเป็นต้องใช้เด็กจริง ๆ ในการแสดง ไม่สามารถหาคนจำพวกอื่นมาทดแทนได้ ยอมรับว่าบางกองถ่ายอาจจมีการกระทำที่ทำให้เด็กต้องร้องไห้การเริ่มถ่ายทำ แต่คิดว่านั้นถือมักจะได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองและครูสอนการแสดงแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าใช้การทารุณกรรมเด็ก ทางออกของดราม่าครั้งใหญ่นี้คิดว่าการพูดคุยจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพียงแต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาเรื่องนี้ด้วย.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 4,352 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม