นิติเวช รับ คลิปนำร่าง “แตงโม” เปรียบเทียบแผลกับใบพัดเรือเป็นของจริง ยัน”ยาอัลปราโซแลม” ไม่มีผลกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้(10 พ.ค.2565) พล.ต.ต. สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ยอมรับ คลิปวีดีโอ ที่ “นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำไปเผยแพร่ อ้างว่าเป็นภาพการนำร่างของ “แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” มาเปรียบเทียบกับใบพัดเรือเป็นเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ขณะที่ทีมแพทย์นิติเวช นำร่างของแตงโมจากห้องเย็น ไปผ่าพิสูจน์ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ให้มีการเปรียบเทียบร่องรอยบาดแผลของแตงโมกับใบพัดเรือของกลางว่าเข้ากันได้หรือไม่ โดยใช้สถานที่ 1 ใน 3 ห้องผ่าชันสูตร ที่อยู่ในบริเวณสถาบันนิติเวช ซึ่งห้องดังกล่าวเป็นห้องสำรองไว้สำหรับฉีดยา บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ และมีการดำเนินการในวันเวลาราชการ ขณะผ่าชันสูตรมีการบันทึกทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ จากทีมชันสูตร 4 คน ประกอบด้วย แพทย์เจ้าของคดี 1 คน ผู้ช่วยแพทย์ 1 คน และ ช่างภาพ 2 คน ไว้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี


ตั้งแต่สถาบันนิติเวชฯ รับร่างแตงโม วันที่ 26 ก.พ.2565 มีการแกะห่อศพ แล้วบันทึกภาพไปกว่า 200 ภาพ โดยพบว่า บนร่างของแตงโม มีบาดแผล 26 บาดแผล ก่อนนำไปผ่าชันสูตรอีกครั้ง ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบว่า มีบาดแผลเพียง 22 บาดแผล ซึ่งความคาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นที่ยอมรับได้ในทางการแพทย์ เพราะระยะเวลาผ่าชันสูตรห่างกันถึง 19 วัน สำหรับกรณีที่มีการนำคลิปไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการปกปิด เพราะเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประกอบสำนวนคดี แต่ยืนยันว่าไม่ได้ออกจากสถาบันนิติเวชฯ โดยข้อมูลนี้ จะส่งต่อให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบสำนวนคดีเท่านั้น ส่วนจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ต้องดูที่เจตนา แต่ขณะนี้ยอมรับว่าเกิดความเสียหายกับองค์กร ซึ่งหากพบว่า เป็นการดิสเครดิสเจ้าหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาข้อกฎหมายอีกครั้ง แต่ยอมรับว่า เสียกำลังใจ เพราะทุกคนทำงานตามมาตรฐาน และไม่ได้ปกปิดข้อมูล โดยที่ผ่านมา องค์กรไม่มีความขัดแย้ง โดยมีแนวทางและเจตนาเดียวกัน ที่จะทำให้คดีคลี่คลาย

ส่วนกรณีพบสารอัลปราโซแลม หนึ่งในพยานเพศชาย ที่อยู่บนเรือกับแตงโม ยืนยันว่า ยากลุ่มดังกล่าว มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมีฤทธิ์คลายกังวล หรือคลายเครียด ใช้ในการรักษา โรคเครียด ลมชัก นอนไม่หลับ ไม่มีคุณสมบัติกระตุ้นทางเพศ แต่หากใช้ในปริมาณมาก อาจทำให้ผู้ใช้ง่วงนอน ส่วนที่เรียกว่า ยาเสียสาว เชื่อว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 345 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม