แพทย์ ยัน สารที่พบในคดี “แตงโม” ไม่ใช่ ‘ยาเสียสาว’ แต่เป็นส่วนผสม ‘ยานอนหลับ’

จากกรณีที่นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง เกี่ยวข้องกับคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” ตลอดจนตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กรณีใช้ดุลพินิจ โดยมิชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติในการตรวจหาสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในร่างกายของคนบนเรือจำนวน 3 คน แต่ไม่ตรวจหาสารเสพติด ในร่างกายของบุคคลอีก 2 คน ซึ่งเป็นคดีเดียวกันและอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 65 พนักงานสอบสวน ได้ส่งตัวอย่างเลือดดังกล่าว ไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อตรวจหรือทดสอบหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของบุคคลในเรือลำเกิดเหตุผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างเลือด โดยวิธี Gas Chromatographyตรวจไม่พบแอลกอฮอล์แต่อย่างใด แต่ผลการตรวจหาสารเสพติดของคนบนเรือจำนวน 1 ราย ตรวจพบสารกลุ่มเบนโซไดอาซิปินส์ชนิด Alprazolam ทีมข่าวเดินทางไปสอบถามพ.ต.อ.จาตุรนต์ อนุรักษ์บัณฑิต ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี เรื่องที่ตรวจสอบสารยาเสียสาวในตัวบุคคลบนเรือ โดยทางผกก.ปฏิเสธไม่ขอให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว โดยอ้างว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ในสำนวนการสอบสวนซึ่งได้ส่งมอบให้ทางอัยการไปหมดแล้ว

จากการสอบถามแหล่งข่าวรายหนึ่งให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า สารที่ตรวจสอบในร่างกายของ 1 ใน5คนบนเรือที่หลายคนให้ความสนใจว่าเป็นยาเสียสาว แต่ทางการตรวจของแพทย์ระบุอย่างชัดเจนว่าพบสารที่พบเป็นยาชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยานอนหลับ ซึ่งข้อมูลเรื่องนี้อยู่ในสำนวนการสอบสวนแล้ว แต่ไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวนคดี สำหรับข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด ‘ยาอัลปราโซแลม'(alprazolam) เป็นยากลุ่ม benzodiazepine ที่ออกฤทธิ์สั้นหรือนานปานกลาง เช่นเดียวกับ lorazepam มีชื่อทางการค้า เช่น zolam@, xanax@ เป็นต้น ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล สงบระงับ และช่วยให้นอนหลับ มีการดูดซึมยาภายใน 1-2ชั่วโมง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ที่พบ เช่น คลายกล้ามเนื้อลาย (musclerelaxants) ต้านอาการชัก (antiepileptics) ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ (anterograde amnesia) ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง สมรรถภาพในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญ หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง เนื่องจากยานี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางจึงมีผู้ที่นำยานี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่นที่ปรากฎตามสื่อต่าง ๆ ว่า ยาเสียตัว


เข้าชม 2,917 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม