สมุดบันทึก ช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ?


ปัจจุบันที่โลกกำลังหมุนเข้าสู่ยุคดิจิทัล  สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งอำลาวงการไป  หลายคนบอกว่า หนังสือเล่มจะอยู่ยาก แต่เมื่อพูดถึงสำนักพิมพ์ที่อยู่ยาวนานและมีผลงานให้เหล่าหนอนหนังสือได้อ่านอย่างต่อเนื่อง
ในแวดวงนักอ่านนักเขียนจะรู้จักกันเป็นอย่างดี
สำหรับสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่อยู่มานานกว่า 40 ปี โดยครูมกุฏ อรฤดี
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ  เริ่มเล่าว่า
 เขาได้เริ่มต้นด้วยอาชีพทำนิตยสาร
จากนั้นก็เขียนหนังสือ
พอเขียนแล้วก็อยากพิมพ์หนังสือเอง
จึงเปิดสำนักพิมพ์ไปพร้อมกัน ในตอนนั้นมีสำนักพิมพ์อยู่ไม่มาก แต่คิดว่าเพื่อความรวดเร็วในการพิมพ์ไม่ต้องรอนาน
และส่วนตัวก็อยากพิมพ์งานแปลแปลก ๆ คือ งานที่ยังไม่มีใครพิมพ์ งานที่แปลจากแอฟริกา
รัสเซีย จึงตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์

            “สมัยก่อน มีคนเดียวก็ทำได้
ทั้งบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร ทำทุกอย่าง เพราะเราไม่ต้องวางอาร์ตเวิร์กเอง
จะมีช่างเรียงตัวตะกั่วจัดการเอง 
เรียงด้วยมือทีละตัวอักษร ซึ่งต้องเรียงแบบกลับหลัง และในอนาคตวางแผนว่าจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เด็ก
ๆ รุ่นหลังได้ดู”

ครูมกุฏ กล่าว


            ส่วนเรื่องการปรับตัวของสำนักพิมพ์
ครูมกุฏ ยอมรับว่า แทบไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก นอกจากเทคโนโลยีการพิมพ์แล้ว
ส่วนอื่นก็ยังทำแบบเดิม ๆ เรียกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายจริง ๆ ที่ทำหนังสือ
ซึ่งเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ได้แปลหนังสือจากภาษาญี่ปุ่น เล่มแรก คือ โต๊ะโตะจัง
เด็กหญิงข้างหน้าต่าง รูปปกและรูปประกอบสวยมาก จึงคิดว่า
ถ้าเราทำเป็นผ้าปักน่าจะดี 
จึงคิดจะหาผ้าปักสำเร็จรูปมาใช้ ปรากฏว่าไม่ลงตัวสักที ก็รอเรื่อย ๆ มา
จนมาเห็นข่าวครูอ๋ายที่สอนปักผ้าให้ชาวบ้าน ชาวเขา
จึงได้พูดคุยกับครูอ๋ายว่าทางสำนักพิมพ์จะปักผ้าทำปกหนังสือครูไหวใจร้าย 100 เล่ม
ซึ่งต้องใช้เวลานาน ครูอ๋ายจึงระดมลูกศิษย์มาช่วย และมีคนสมัครมาช่วยปักรวมแล้ว
265 คน สุดท้ายก็สรุปยอดพิมพ์ที่ 500 เล่ม จากนั้นก็ทำปกผ้าปักอีกสองปกคือ
ผีเสื้อและดอกไม้ และนางสาวโต๊ะโตะ  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ เพราะกลายเป็นที่สนใจของวงการศิลปะสองแขนง
คือ หนังสือ และ ผ้าปัก 

            ครูมกุฏ ยืนยันว่า ยังอ่านหนังสืออยู่
เป็นคนทำหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปก็ต้องอ่านหนังสือ
เพราะมีเรื่องเกิดขึ้นใหม่มากมายในหนังสือ ต้องอ่านอย่างน้อย ๆ
ก็อ่านในสิ่งที่เราใคร่รู้ หรือจำเป็นต้องรู้
แต่จะมีวิธีใดที่จะชักชวนให้อ่าน 
ต้องมีองค์กร มีหน่วยงาน พูดเรื่องแบบนี้มา 20 ปี แล้วก็ยังไม่เกิด
เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างใหญ่ที่เกิดขึ้นได้ยาก
ซึ่งคนที่จะทำได้ก็คือรัฐบาลเท่านั้น เพราะต้องใช้งบประมาณและบุคลากรต่าง ๆ

            ครูมกุฏ เล่าต่อไปอีกว่า
การที่เราไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ เพราะไม่เคยรู้อายุของตัวเอง ไม่มีวันเกิด ก็เลยไม่ได้นับอายุ
และการที่ได้ทำหนังสือกับเด็ก ๆ อาจมีส่วนทำให้เกิดพลัง และมีความจำที่ดี
เพราะต้องวิ่งเล่นกับเด็ก 6-9 ขวบ ส่วนเรื่องสุขภาพทั่วไปก็ยังพอไหว ทำบอลลูนหัวใจไปเมื่อกว่า
10 ปีที่แล้ว เรื่องความดันก็เป็นไปตามวัย


            ส่วนโครงการสมุดบันทึก ครูมกุฏ
อธิบายว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ประสบความสำเร็จดีมาก โดยในปีแรก 2557
ได้มอบสมุดบันทึกให้เด็ก ๆ  จำนวน 1,100 คน
ได้นักคิด นักเขียนที่เป็นเด็กมาหลายคน ขณะนี้มีนักเขียนเด็กอยู่ประมาณ 7
คนที่จะสามารถผลิตหนังสือออกเป็นเล่มได้ 
และในปี 2562 จะเริ่มมอบสมุดบันทึกให้เด็ก ๆ ทั่วประเทศ อีก 1,200-1,500
เล่ม เพราะสมุดบันทึกที่ไม่มีเส้นจะช่วยค้นหาอัจฉริยภาพของเด็กแต่ละคน
ถ้าพ่อแม่คนใดสนใจให้เด็กอายุ 5-9 ขวบ เขียนจดหมายมาถึงคุณตาสมุดบันทึก ส่งไปที่
เลขที่ 261 ซ.สุขุมวิท 31 ถนนสุขุมวิท กทม.10110

            “อยากทำโครงการสมุดบันทึกต่อไปเพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่าด้วยวิธีง่าย
ๆ แบบนี้ จะสามารถแก้ปัญหาหลายอย่าง เช่น เด็กไม่อ่านหนังสือ
เพราะเมื่อเด็กได้เริ่มเขียนตั้งแต่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาจะชอบการเขียน และเมื่อชอบเขียนไป
1 ปี เขาจะเป็นนักอ่านตัวยงโดยไม่ต้องมีใครบังคับให้อ่าน
การเขียนสมุดบันทึกทำให้เด็กสนใจที่จะอ่าน
และการเขียนสมุดบันทึกนี้เองที่จะทำให้เด็กอ่านหนังสือได้ปีละ 30-50 เล่ม”

            สำหรับผู้สูงอายุ
กับการเขียนสมุดบันทึก ครูมกุฏ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะเราจะได้เห็นวิวัฒนาการของอาชีพ
วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ของชุมชน
จะได้รับการถ่ายทอดออกมาโดยชาวบ้านที่อยู่หมู่บ้านนั้นจริง ๆ
เราจะได้ประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ของชุมชน ถ้าผู้สูงอายุเริ่มเขียนสมุดบันทึก
เราจะได้ข้อมูลที่เป็นรากเหง้าของท้องถิ่นแต่ละแห่งมากมาย
และเรื่องของโรคอัลไซเมอร์ที่คนสูงวัยกังวล อาจจะลืมไปได้เลย
เพราะเราจะสังเกตได้จากการเขียนในสมุดบันทึกที่พบว่า ไม่มีอาการหลงลืมเลย

            การเขียนบันทึกนี่แหละ
ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ดี เพราะฝึกฝนทุกวัน
และยังทำให้ได้อ่านหนังสือมากขึ้นด้วย เนื่องจากต้องค้นข้อมูลเพิ่มเติม
เริ่มถามหาพจนานุกรม หาคำถูกคำผิดเอง ไม่ต้องถามใคร
พอเขียนไปสักพักก็ต้องอ่านทบทวน ค้นข้อมูลอื่น ๆ มาเขียนประกอบ”

            ครูมกุฏ
ฝากถึงคนที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณว่า การที่จะทำให้เราไม่หงุดหงิดง่าย คือ
ลองหาสมุดมาสักเล่ม เขียนความหงุดหงิดลงกระดาษ แทนที่จะเก็บความหงุดหงิดไว้
หรือไปแสดงความหงุดหงิดใส่คนอื่น จะเห็นว่า สมุดบันทึกช่วยเราได้เยอะมาก
ช่วยให้ไม่ลืม ช่วยทบทวนความจำ  เก็บความจำเก่า
ๆ ไว้ ช่วยควบคุมอารมณ์ไม่ให้ไประบายใส่คนอื่น  ไตร่ตรองมากขึ้น  ในวัยแบบนี้ ก็คงจะออกกำลังกายไม่ได้มาก แต่ให้ออกกำลังกายสมองและออกกำลังกายจิตใจ
ไปด้วย

#Youngเก๋า

เข้าชม 16 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม