‘ขี้ควาย’ สร้างรายได้ให้ชุมชน


ควาย หรือ
กระบือ ถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับงานเกษตรกรรมในแถบเอเชียที่คนไทยเลี้ยงไว้ใช้แรงงานเพื่อไถนาหรืออาจเป็นพาหนะในการเดินทางของเกษตรกรในชุมชน
แม้ว่าสัตว์ชนิดนี้จะมีประโยชน์หลายอย่างแต่กลับถูกผู้คนนำมาเป็นสัญลักษณ์ของคนโง่(ฉลาดน้อย)
ทำให้ควายกลายเป็นภาพติดลบของใครหลายคน แต่สำหรับ อาจารย์สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ
ผู้มองเห็นความสำคัญของ “ขี้ควาย” จะมาบอกเล่า
ถึงกระบวนการคิดและวิธีการผลิตกาแฟขี้ควายจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและจังหวัดเชียงราย

อาจารย์สุรสิทธิ์
ปุสุรินทร์คำ
ผู้คิดค้นกาแฟขี้ควายขึ้นมาเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการ
หารายได้ให้ชุมชนจากการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่ โดยมองว่าจะเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยวิธีใดได้บ้างเพื่อให้เกิดความมั่นคง
จึงตัดสินใจหันมาเริ่มทำกาแฟขี้ควาย เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ โดยดูก่อนว่าพื้นที่ของตัวเองมีอะไรแล้วนำมาสร้างเป็นเรื่องราวเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีที่มาที่ไปและสามารถวางขายในท้องตลาดได้


อำเภอที่อาจารย์อยู่
คืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่าที่นี่มีปางควาย จึงเกิดความคิด
ที่จะเอาเมล็ดกาแฟไปให้ควายกิน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีลักษณะคล้ายกับกาแฟขี้ชะมดและกาแฟขี้ช้าง
โดยอาจารย์สุรสิทธิ์คิดค้นวิธีต่าง ๆ แล้วสังเกตว่าควายกินอะไรบ้าง
จากนั้นจึงหาทางทำให้ควายกินเมล็ดกาแฟให้ได้ เมื่อทดลองแล้วพบว่าเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้าดีที่สุด
โดยเกษตรกรจะเลือกเก็บแต่เมล็ดกาแฟที่สุกกล่ำ มีสีแดงเข้ม จากนั้นนำมาคลุกกับเมล็ดจามจุรี
โดยปรุงตัวเมล็ดกาแฟนี้ให้มีรสชาติเหมือนรสเมล็ดจามจุรี
เมื่อควายถ่ายออกมาก็นำของเสียหรือขี้ควายนี้ไปตาก คัดเมล็ดกาแฟออก
ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งการคัดแยกเมล็ดกาแฟนี้ช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อได้เมล็ดกาแฟมาแล้วจึงนำมาผึ่งให้แห้ง ใส่กระสอบระบายอากาศ สามารถเก็บไว้ได้ประมาณ
4-12 เดือน
แล้วเข้าสู่กระบวนการการกระเทาะเปลือกก่อนนำไปคั่วและบด จึงออกมาเป็นกาแฟขี้ควาย ที่มีรสชาติไม่เปรี้ยวจัดแต่จะมีความหวานฉ่ำคอมากกว่ากาแฟประเภทอื่น
เป็นความหวานที่เรียกน้ำลายของผู้ที่ดื่มเข้าไป

อาจารย์สุรสิทธิ์ตั้งราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 10,000 บาท พร้อมยอมรับว่าช่วง 4
ปีแรกไม่ได้รับ
การสนใจเท่าที่ควร คนไทยเพียงแค่อยากรู้จักและลองชิมจึงมองว่ากาแฟขี้ควายนี้มีราคาสูง
แท้จริงแล้วผู้บริโภคควรมองถึงกระบวนการคิดและวิธีการผลิตมากกว่า
แต่เมื่อมีรายการมาสัมภาษณ์และนำเรื่องราวไปเผยแพร่
จึงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นและกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงปีที่ 7
ของการผลิตกาแฟขี้ควาย นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติอย่างประเทศเบลเยียม
ที่มาดูการผลิตเพื่อนำไปขายอีกด้วย

“กาแฟขี้ควาย
นอกจากจะมีรสชาติที่ดียังมีเรื่องราวของการสร้างกาแฟที่ใช้เป็นจุดขายด้วยเช่นเดียวกัน
ไม่ใช่เพียงแค่กาแฟขี้ควายเท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ปางควาย ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเพื่อการเกษตร
ทำให้มีเงินหมุนเวียน ชาวบ้านมีรายได้เสริม”


รายได้ส่วนใหญ่ของการขายมาจากการสั่งซื้อออนไลน์และจากร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในปางควาย
กาแฟขี้ควายนี้มีทั้งแพ็กเกจแบบเมล็ดและแบบผง
หากสนใจสามารถเดินทางไปลิ้มลองได้ที่ปางควาย
บ้านห้วยน้ำราก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก(Facebook) Surasit
Buffalocoffee

 

#ThinkingNetwork

#ThinkingRadio

ชญาภา
บุบผะศิริ           เรื่อง

อริสรา
ประดิษฐสุวรรณ  เรียบเรียง

     

 

เข้าชม 46 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม