ในเมืองไทยคำว่า
“จิตอาสา” มีการใช้ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิผ่านไปประมาณ 1
ปี โดยคณะทำงานแผนพัฒนาจิต ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาใช้คำว่า
“อาสาสมัคร” ฟังแล้วไม่สะดุดหู จึงประดิษฐ์คิดคำขึ้นมาใหม่ ว่า “จิตอาสา”
ต่อมาก็กลายเป็นคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งให้นิยามที่แปลกใหม่ ลัดสั้น แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ล้วน งดงามทั้ง
อรรถและความหมายในวิถีพุทธ อาทิ คำว่า
“เธอคือผู้ที่มีหัวใจเต้นเพื่อคนอื่น”
“เธอคือพระโพธิสัตว์บนดิน”
เชื่อมั้ยครับนิยามที่มีความหมายงดงามลึกซึ้งเหล่านี้
ทำให้นึกถึง “พุทธอาสา” ท่านหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ
คือ พระทัพพะมัลละบุตร ซึ่งในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาธรรมบท “อสีติมหาสาวก” ได้กล่าวถึงวัตรปฏิบัติไว้อย่างน่าสนใจและน่าศึกษา
เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เซรั่มธรรมะ ฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขออาสามาเล่าพร้อมสังเคราะห์ให้ฟัง
พระทัพพะมัลละบุตร เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช ในอนุปิยนิคม
แคว้นมัลละ มีพระนามเดิมว่า “ทัพพราชกุมาร” แต่เนื่องจากว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช
จึงนิยมเรียกกันว่า “ทัพพมัลลบุตร” เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า
ทัพพะ ซึ่งแปลว่า “ไม้” นั้นก็เพราะว่าในขณะที่พระมารดา
ตั้งครรภ์ใกล้จะประสูติ แต่มาสวรรคตเสียก่อน บรรดาพระประยูรญาติจึงนำศพไปเผาบนเชิง
ตะกอน เมื่อไฟกำลังเผาไหม้ร่างของพระนางอยู่นั้น ท้องได้แตกออก
ทารกในครรภ์ได้ลอยมาตก ลงบนกองไม้ใกล้ ๆ เชิงตะกอน แต่ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ บรรดาเจ้าหน้าที่จึงได้อุ้มทารกมามอบให้พระอัยยิกา
(ยาย) ก็อาศัยเหตุการณ์นี้จึงตั้งชื่อท่านว่า
“ทัพพะ”
ขณะนั้น ทัพพราชกุมาร มีอายุ 7 ขวบ ยายได้พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมือง
ทันทีที่ทัพพราชกุมารได้เห็นพระพุทธเจ้า ก็เกิดความเลื่อมใสคิดปรารถนาจะออกบวช จึงบอกให้ยายทราบ
ยายคิดอยู่ตลอดเวลาว่า หลานเป็นคนมีบุญ
เมื่อได้ยินเช่นนั้น จึงดีใจมาก รีบพาหลานเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอให้ทรงบวชให้
พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พระรูปหนึ่งรับทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์พร้อมบวชให้
ระหว่างพิธีบวช พระอุปัชฌาย์ ก็สอน ตจปัญจกกรรมฐานหรือกรรมฐานเบื้องต้น
เป็น กายคตาสติ ระลึกถึงความไม่งามปฏิกูลของอาการ
32 โดยสอนให้ท่านพิจารณาอวัยวะ 5 ส่วน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขณะที่นั่งให้พระอุปัชฌาย์ปลงผมอยู่นั้น
ท่านก็กำหนดพิจารณาตามที่เรียนและได้บรรลุมรรคผลตามลำดับ คือ โกนเสร็จกระจุกที่ 1
ได้บรรลุโสดาปัตติผล โกนเสร็จกระจุกที่ 2 ได้บรรลุสกิทาคามิผล โกนเสร็จกระจุกที่ 3
ได้บรรลุอนาคามิผล ครั้น โกนเสร็จกระจุกที่ 4 อันเป็นกระจุกสุดท้าย
พร้อมกับการโกนสิ้นสุดลงก็ได้บรรลุอรหัตผล เรียกว่า บรรลุธรรมตั้งแต่ 7 ขวบ
หลักจากบวชพระทัพพะมัลละบุตร
ก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ วันหนึ่งขณะหลีกเร้นอยู่ตามลำพัง
ท่านได้ตรวจดูความสำเร็จของตนแล้วก็เกิดความคิดที่จะทำประโยชน์แก่ส่วนรวม คือ
จัดเสนาสนะแจกจ่ายให้พระที่มาจากต่างถิ่นได้พักอาศัยและจัดพระไปฉันตามที่มีผู้นิมนต์ไว้
ท่านนำความคิดนี้ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนา และทรงเห็นว่าท่านอายุยังเยาว์
แต่ต้องการมารับภาระหนักอันน่าจะเป็นหน้าที่ของพระมากกว่า
เพื่อให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความคล่องตัว ดังนั้น จึงทรงบวชยกให้ท่านเป็นพระตั้งแต่วันนั้น
“คือทรงยกฐานะให้เป็นพระภิกษุตั้งแต่อายุ 7 ขวบ”
การจัดเสนาสนะ ท่านยึดหลักคือ จัดพระที่มีความถนัดคล้ายกันไว้ด้วยกัน
ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านจัดพระที่เชี่ยวชาญพระสูตรให้พักอยู่ในที่เดียวกัน พระที่เชี่ยวชาญพระวินัย และ
พระที่เชี่ยวชาญพระอภิธรรม ก็จัดให้พักในทำนองเดียวกัน
โดยตระหนักถึงเหตุผลว่าพระเหล่านั้นจะได้คุ้นเคยกันและสนทนาในเรื่องที่ถนัดเหมือนกัน
นอกจากนั้น ท่านยังจัดเสนาสนะให้ตามความประสงค์ของผู้มาพักไม่ว่าจะเป็นซอกเขา หรือ
ในถ้ำ หากมีพระมาขอพักในเวลากลางคืน
ท่านก็เข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานให้เกิดแสงสว่างที่ปลายนิ้วมือแล้วเดินนำหน้าพาพระอาคันตุกะเหล่านั้นไปส่งตามที่พักแห่งต่างๆ
ครั้นพาพระอาคันตุกะไปส่งถึงที่พักแล้ว ท่านก็จะบอกให้ทราบถึงการใช้ที่พัก
รวมทั้งบอกเวลาเข้าออกที่เหมาะสมให้ด้วย
การจัดพระไปฉันในที่นิมนต์ ท่านยึดหลักความเหมาะสมเกี่ยวกับวัยวุฒิและคุณวุฒิ
ท่านยังรู้ไปถึงว่า อาหารชนิดใดเป็นสัปปายะหรือไม่เป็นสัปปายะแก่พระรูปใด ทำให้พระทั่วไปต่างยอมรับในการจัดการของท่าน
เมื่อเกียรติคุณในความสมบูรณ์แห่งหน้าที่ปรากฏขึ้นชัดเจน พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแต่งตั้งพระทัพพเถระไว้ในฐานันดร
ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าขณะนั้นเอง ตถาคตทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระทัพพมัลลบุตร เป็นผู้เลิศแห่งหมู่ภิกษุสาวกของเรา ผู้จัดแจงเสนาสนะแล
ดังนั้นการที่ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้ประเสริฐสุดในทางจัดแจงเสนาสนะให้แก่สงฆ์ได้อย่างชัดแจ้ง จึงนับว่าได้พระทัพพมัลลบุตรเป็นยอดพระนักจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว พระทัพพมัลลบุตรยังได้ทำงานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง
คือ ร่วมทำปฐมสังคายนา เป็นพระอรหันต์ 1ใน
500รูปที่ได้รับคัดเลือกจากพระมหากัสสปะด้วย
บั้นปลายชีวิต พระทัพพมัลลบุตรเถระ
นิพพานที่เมืองราชคฤห์ โดยก่อนที่จะนิพพาน ท่านได้ แสดงฤทธิ์เหาะขึ้นไปในอากาศ
ทำสมาธิเข้าสมาบัติเมื่อออกจากสมาบัติแล้วก็นิพพานทันที พลันก็เกิดไฟลุกไหม้ร่างของท่านหมดสิ้น
ไม่มีเหลือแม้แต่เถ้าถ่าน ทั้งนี้เป็นไปตามความประสงค์ของท่านนั่นเอง