เสน่ห์เกาะพิทักษ์ วิถีชุมชนชาวบ้านแบบญาติมิตร

แหล่งท่องเที่ยวมากมายในประเทศไทยกลายเป็นจุดพักผ่อนของเหล่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว
ซึ่งทะเลถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น ๆ  หลายจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนเลือกเป็นหมุดหมายไปพักผ่อนคลายร้อน
คลายเครียด


จังหวัดชุมพรนับเป็นประตูสู่ภาคใต้ ที่มีเกาะน้อยใหญ่ร่วม 50 เกาะ 
หนึ่งในนั้น คือ
เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวท้องครก ตำบลบางน้ำจืด อำหลังหลังสวน
จังหวัดชุมพร อยู่ในชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
คุณอำพล ธานีครุฑ  หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า
ผู้ใหญ่หรั่ง ผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะพิทักษ์  เริ่มเล่าว่า เกาะพิทักษ์อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ
1 กิโลเมตร ไม่อันตราย มีแหล่งท่องเที่ยวแบบ
Unseen คือ ถนนน้ำข้ามสมุทร น้ำจืดผุดกลางเกาะ
หอยเจาะทะเลขาด หาดสองน้ำ
ซึ่งเป็นคำขวัญของเกาะพิทักษ์  หนึ่งปีน้ำจะลดลงช่วงเม.ย.-ส.ค. เดือนละ 10  วัน

ผู้ใหญ่หรั่ง อธิบายถึงแนวคิดเริ่มต้นว่า เริ่มมองจากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่
เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 นำการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือ ชวนชาวบ้านมาช่วยกันอนุรักษ์ดูแลให้ทะเลฟื้น
หลังจากนั้นจึงค่อยนำการท่องเที่ยวมาใช้  โดยตั้ง
3 ประเด็นหลักคือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
รวมถึงสังคมสงบสุข พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชน


“วิถีของคนเกาะพิทักษ์คือชาวประมง ออกทะเลกันทั้งหมด แต่เมื่อทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอ
ชาวบ้านเริ่มเป็นหนี้  ชาวบ้านเริ่มขายที่ออก เริ่มแตกแยก
เกิดความล่มสลายของเกาะพิทักษ์เมื่อปี 2532-2536 ผมได้กลับมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็คิดว่า
จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ชาวบ้านไม่มีหนี้  จึงมองถึงเรื่องการอนุรักษ์ ก็ขับเคลื่อนมาตลอดกระทั่งเกิดความสมบูรณ์อีกครั้ง
พร้อมนำเอาขนบธรรมเนียมประเพร๊มาอีกด้วย สุดท้ายคนเกาะพิทักษ์ของดีขึ้น ผมเชื่อว่า
ไม่ว่าคนชุมชนไหน ถ้านำการท่องเที่ยวโดยนำคนเป็นเครื่องมือ ชุมชนจะไม่หายไปไหน
ทรัพยากรจะฟื้นได้เต็มที่ ประเพณีวัฒนธรรมก็จะฟื้นเช่นกัน”
ผู้ใหญ่หรั่งอธิบายอย่างชัดเจน และกล่าวอีกว่า

การทำการท่องเที่ยวเหมือนดาบสอบคม
ถ้าดูแลได้ไม่เต็มที่ การขายที่ดินในชุมชนจะเกิดขึ้น ผู้คนจะแตกแยก

ผู้ใหญ่หรั่ง เล่าต่อไปอีกว่า
เกาะพิทักษ์ขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2536
และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2545 ที่สำคัญคนสูงวัยก็เริ่มมีอาชีพ
เชื่อมเครือข่ายในทุกอาชีพ ไม่ต้องขนของไปขายที่อื่น สร้างเสน่ห์ในหมู่บ้านตัวเอง
หาจุดเด่นของหมู่บ้านตัวเองให้ได้ และอีกเรื่องที่สำคัญ
คือได้ตั้งเป้าให้เด็กในพื้นที่เรียนจบแล้วให้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด


ส่วนการทำที่พักโฮมสเตย์ ผู้ใหญ่หรั่ง อธิบายว่า
ก็ใช้บ้านที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ ใช้ที่พักของตัวเอง ทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย
ห้องน้ำถูกสุขลักษณะ ให้คนมาพักแลกเปลี่ยนกัน โดยอาจจะให้เขาทำกับข้าวร่วมกัน
ช่วยล้างจาน เกิดการแลกเปลี่ยน อยู่แบบวิถีเดิมจริง ๆ ส่วนการประชาสัมพันธ์
เดิมที่ก็ใช้วิธีปากต่อปาก จากนั้น เริ่มมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์
แต่ที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ น่าจะเป็นการบอกต่อมากกว่า
เพราะคนที่เคยมาพักก็จะกลับมาพักบ่อย ๆ ซึ่งก็เชื่อว่า
ความมีเสน่ห์ของเกาะพิทักษ์คือ การมีอัตลักษณ์ มีวิถีดั้งเดิม แม้จะเข้าสู่ยุค 4.0
ชาวเกาะพิทักษ์ก็ยังดำเนินชีวิตแบบวิถีชาวบ้านจริง ๆ

“ถ้าจะทำการท่องเที่ยวต้องตั้งกฎระเบียบให้เสร็จไว้ก่อน ว่าเราทำแล้วได้อะไร
และจะแบ่งปันอย่างไร เพราะถ้าไม่คิดไว้ก่อน 
เมื่อการท่องเที่ยวมา ก็จะมีแต่เรื่องเงิน
จะทำลายสังคมในหมู่บ้านให้เกิดการแตกแยก ดังนั้น เมื่อรวมกลุ่มแล้ว
ตั้งกฎระเบียบแล้ว ให้ทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ การขับเคลื่อนจะไปในทิศทางเดียวกันแน่นอน”

#ThinkingNetwork

 

เรื่อง
: ศรวณีย์
คงดารา  

เรียบเรียง
: อริสรา
ประดิษฐสุวรรณ
a

เข้าชม 38 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม