สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ทบทวนกฎหมายดิจิตอล


 

 จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายดิจิทัล 10 ฉบับ


 

            ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอทีและอินเทอร์เน็ตจำนวน 10 ฉบับ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้แก่ 1) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 3) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 4) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 5) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 6) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 7) ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 8) ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 9) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ 10) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

            สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ในฐานะองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพการผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ประชุมหารือกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นเบื้องต้นเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้


            1. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์สนับสนุนหลักการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ “ดิจิทัล” มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะมีการผลักดันดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยการเร่งรัดออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน

            2. เนื้อหาของร่างกฎหมายหลายฉบับมีลักษณะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งจะมีผลในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นการออกกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่จำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย

            3. พนักงานเจ้าหน้าที่ในร่างกฎหมายหลายฉบับถูกกำหนดให้มีอำนาจอย่างไร้ขอบเขตและปราศจากการกลั่นกรองหรือมีการรับรองการใช้อำนาจเข้าตรวจค้นจับกุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ์ของเอกชน เช่น การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นจับกุมโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการขยายขอบเขตการให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงง่ายต่อการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดจนเป็นการรบกวนสิทธิ์ของประชาชน

            4. ลักษณะของเนื้อหาตามร่างกฎหมายบางฉบับ มีการหมกเม็ดให้อำนาจแก่หน่วยงานรัฐโดยปราศจากการตรวจสอบจากกฎหมายหรือหน่วยงานใดๆ ซึ่งถือเป็นการผิดวิสัยของการร่างกฎหมายที่ไม่เป็นตามมาตรฐานของการบัญญัติกฎหมายหรือเข้าข่ายการร่างกฎหมายตามอำเภอใจ ซึ่งหากไม่มีการพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว กฎหมายที่ออกมาก็จะเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance)

            5. เนื้อหาของร่างกฎหมายหลายฉบับ มีลักษณะของการ “ควบคุม” มากกว่า “ส่งเสริม” การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยดิจิทัล ตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลประกาศต่อสาธารณชน ซึ่งอาจจะมีผลให้ภาคธุรกิจต่างประเทศถอนหรือยกเลิกการลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

            ด้วยเหตุผลข้างต้น สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จึงขอเรียกร้องมายัง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวทั้ง 10 ฉบับและเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง เพื่อให้การพิจารณาผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาลเป็นไปด้วยความรอบคอบและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาวต่อไป

 

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

22 มกราคม 2558

เข้าชม 14 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม