ดร.การดี เล่าถึงเกร็ดเล็กๆ ของชาวเวียดนามว่า มีนิสัยอดออมมากที่สุด และมีขนาดครอบครัวที่เล็กลง แต่การจับจ่ายซื้อของกลับไม่เล็กลงตามไปด้วย เพราะชาวเวียดนามยังคงซื้อของชิ้นใหญ่ เนื่องจากราคาต่อหน่วยถูกกว่าการซื้อของน้อยชิ้น รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นด้วย
ดร.การดี เล่าว่า ต่างประเทศมองประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือหรือการคมนาคม เพราะปัจจัยสำคัญในเรื่องของแรงงานที่ยังราคาถูก และวิศวกร เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตวิศวกรมากที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน
จุดพลิกผันของอุตสาหกรรมเวียดนามในปี 2011-2012 คือ ก่อนหน้าปี 2011 อุตสาหกรรมที่เป็นการส่งออกหลักๆ คือ สินค้าจำพวกสิ่งทอ แต่เมื่อปี 2012 มีการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่ามากมายมหาศาลให้กับประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2013 เวียดนามมีรายได้ส่งออกเกี่ยวกับโทรศัพท์ประมาณ 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตถึงร้อยละ 103 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เท่าตัว ซึ่งบริษัท ซัมซุง มีส่วนทำให้ประเทศเวียดนามมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่รวดเร็วเพราะมีฐานการผลิตที่ใหญ่เป็นที่ 2 รองจากจีน อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเวียดนามเติบโตเพราะนโยบายเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป็นนโยบายที่เปิดกว้าง
ทั้งนี้ เรื่องของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน สำหรับคนเวียดนาม ร้อยละ 60 ไม่รู้ว่า AEC คืออะไร ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัว จนเกิดเป็นประเด็นที่ทางเวียดนามตกใจ เพราะครม.ของประเทศก็มีความพร้อม และ เลขาธิการอาเซียน ก็เป็นคนเวียดนาม แต่คนในประเทศกลับไม่มีความพร้อม ทำให้เกิดความตื่นตัวจากรัฐบาลที่จะให้ความรู้ และจัดแคมเปญต่างๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ
เรื่อง : วรารัตน์ ดวงนามล