ฉากพระมหาชนกโดยสารเรือสำเภาที่แล่นฝ่าคลื่นลม และถูกพายุโหมกระหน่ำ จนเรืออับปาง ผู้คนพลัดหายสู่ท้องทะเล คงเหลือเพียงพระมหาชนกที่แหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรอยู่นานถึง 7 วัน 7 คืน เพื่อไปให้ถึงฝั่ง กระทั่งนางมณีเมขลาเห็นในความเพียรพยายาม จึงช่วยเหลือขึ้นมาจากมหาสมุทร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลานิสงส์ของความเพียรนี้ เป็นฉากสำคัญของการแสดงละคร เรื่อง “พระมหาชนก” ที่จะเกิดขึ้นในงานมหรสพสมโภชพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เช่นเดียวฉากที่พระมหาชนกเสด็จประพาสอุทยาน แล้วทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล จึงถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งเพื่อเอาผลจนในที่สุดต้นก็โค่นลง ในขณะที่ต้นไม่มีผลกลับไม่ได้รับความสนใจใดๆ แสดงให้เห็นว่าสิ่งใดดีมีคุณภาพก็มักจะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง และเป็นอันตรายท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา เป็นจุดเริ่มพระราชดำริที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยทุกคนมีการศึกษา เพื่อให้เกิดปัญญา
วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการด้านนาฏศิลป์ไทย ผู้กำกับการแสดงในครั้งนี้เผยว่า แม้บทละครของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ที่อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เรื่องพระมหาชนกนี้มาดัดแปลงจะทำการแสดงมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้จะพิถีพิถันใส่รายละเอียดยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้สมพระเกียรติสูงสุด
เช่นเดียวกับสมเจตน์ ภู่นา นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ผู้รับบทพระมหาชนกในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากรองศาสตราจารย์ดอกเตอร์ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ที่เคยรับบทพระมหาชนกคนแรกของไทย ก็เผยว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิตนาฏศิลปินตลอด 30 ปี ที่จะได้ถวายงานในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งสุดท้าย
การแสดงละคร เรื่องพระมหาชนก ครั้งนี้ รวมนาฏศิลปิน, ดุริยางคศิลปิน และคีตศิลปิน จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ไว้มากถึง 150 ชีวิต จะจัดแสดงใน
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เวทีที่ 2 บริเวณท้องสนามหลวง โดยเริ่มแสดงตั้งแต่เวลา 18.00น. ของวันที่ 26 ตุลาคม ยาวไปจนถึง เวลา 6.00น. ของเช้าวันที่ 27 ตุลาคม ซึ่งการแสดงของทุกเวทีจะหยุดเมื่อมีพระราชพิธีบนพระเมรุมาศ