พระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุขกับการควบคุมป้องกันโรคเรื้อน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงใส่พระราชหฤทัยปวงชนชาวไทย แม้กับโรคที่สังคมไทยเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนรังเกียจ ยังคงตราตรึงใจ และกลายเป็นแรงบันดาลให้นักศึกษาแพทย์ศิริราชในขณะนั้น “มงคล ณ สงขลา” ตั้งมั่นที่จะใช้ความรู้ความสามารถด้านการแพทย์ที่ได้ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเพื่อนมนุษย์ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
การควบคุมและป้องกันโรคเรื้อนที่กำลังระบาดหนักเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา คือพื้นที่แรก ที่บัณฑิตแพทย์ป้ายแดง อย่างนายแพทย์มงคล ได้เข้าไปดูแล และมีส่วนสำคัญในการกำจัดโรคเรื้อน จนแทบจะหมดสิ้นไปภายในระยะเวลา 5 ปี ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นายแพทย์มงคลมีโอกาสได้สานต่อพระราชปณิธาน ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข และผลักดันให้เกิดสถานีอนามัย รวมถึงโรงพยาบาลในหลายพื้นที่ทุรกันดารในเวลาต่อมา ด้วยรำลึกถึงน้ำพระราชหฤทัยของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของพสกนิกรเสมอมา
นอกจากเรื่องสุขภาพอนามัยแล้ว การมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญมาตลอด ซึ่งนายแพทย์มงคลก็ตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน จึงร่วมกับโครงการ “โอสถสภา เพื่อชีวิตที่ดี…ยิ่งกว่า” ลงพื้นที่ไปช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ ที่นายแพทย์มงคลมีโอกาสไปช่วยฟื้นฟูผู้พิการ, งานด้านเกษตรกรรม, ตลอดจนกองทุนอาชีพ ที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งตนเอง