Art Today : ความเปลี่ยนแปลงของงิ้วไทย มุมมองของ “เต็ก พงศกร” เจ้าของคณะงิ้ว “แชลั่งเง็กเล่าชุน”

“เฮียเต็ก” คือนามที่ทุกคนในคณะงิ้ว “แชลั่งเง็กเล่าชุน” เรียกขาน “เต็ก พงศกร” อย่างคุ้นเคย เขาเติบโตมากับคณะงิ้ว และบอกว่าตนเองเป็นลูกงิ้วด้วยความภาคภูมิใจ เขามีพ่อเป็นครูสอนงิ้ว มีแม่เป็นพระเอกงิ้วที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ได้ไปประกวดงิ้วที่ประเทศสิงคโปร์ และได้รับรางวัลจากท่านประธานาธิบดี ลีกวนยู ในปี ค.ศ.1963 



ในยุคที่เยาวราชมี 5 วิกงิ้ว พ่อเฮียเต็กรับหน้าที่ครูสอนงิ้วอยู่ที่นั่น และในวันหนึ่งพ่อก็คิดอยากจะมีคณะงิ้วเป็นของตัวเอง เพราะอยากให้ลูก ๆ ได้อยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา จึงตัดสินใจซื้อคณะงิ้วมาคณะหนึ่ง พี่สาวคนโตเล่นเป็นพระเอก พี่สาวคนที่สองเล่นเป็นนางเอก พี่คนที่สามดูแลคณะและเล่นดนตรี พี่ชายเล่นเป็นตัวโกงและตัวตลก ส่วนตนเองเป็นลูกคนเล็กไม่ได้เล่นงิ้ว แต่ถูกให้ไปเรียนหนังสือ เมื่อเรียนจบที่เมืองไทยก็ไปเรียนดนตรีจีนที่เมืองจีน พอได้กลับเมืองไทยจึงมีความคิดอยากมาพัฒนางิ้ว เพราะไม่อยากทำแบบรุ่นพ่อ ไม่อยากเล่นให้ศาลเจ้าอย่างเดียว อยากให้คนดูสนุกด้วย เฮียเต็กจึงตัดสินใจซื้อคณะงิ้ว “แชลั่งเง็กเล่าชุน” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

หน้าที่ของเฮียเต็กในคณะงิ้ว “แชลั่งเง็กเล่าชุน” คือหางานแสดงให้ชาวคณะ และฝึกนักแสดงใหม่ เพราะตนเองมีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีจีน จึงต้องวางบทบาทนักแสดงให้เหมาะสมกับความสามารถในการร้องการแสดงของแต่ละคน  ซึ่งในหนึ่งคณะงิ้วนั้นจะมี 6 ตัวแสดงหลัก คือ พระเอก นางเอก ตัวพ่อ ตัวแม่ ตัวตลกและตัวโกง แต่ก็จะมีตัวรองของแต่ละตัวหลักเสริมเข้าไปอีก ซึ่งนักแสดงในคณะงิ้วของเฮียเต็กมีนำเข้าจากเมืองจีนอยู่หลายคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย บางคนถูกนำมาฝากไว้ที่โรงงิ้วตั้งแต่ยังเล็กๆ เติบโตคลุกคลีและถูกฝึกงิ้วมาตั้งแต่เด็ก จนพูดไทยไม่ชัดแต่กลับพูดจีนได้ชัดแจ๋ว ยึดอาชีพงิ้วมายาวนานจนมีรายได้ส่งให้พ่อแม่ ปลูกบ้านสร้างตัวเป็นปึกแผ่น ถือเป็นความภูมิใจของเฮียเต็กที่ได้สร้างคนดี คนกตัญญู จากอาชีพสุจริตแขนงนี้   


เฮียเต็กบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะฝึกคนให้เล่นงิ้วได้ ขั้นต้นต้องฝึกภาษาจีนให้คล่องก่อน แต่เพราะความยากก็ทำเอาท้อแท้ไปก็มาก เฮียเต็กก็ต้องใช้วิธีสอนแบบกระชับจากบทเริ่มต้นไปจนถึงขั้นสูง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความอุตสาหะของแต่ละคน ถ้าฝักใฝ่อยากเรียนก็จะไปช่วยหาครูเก่ง ๆ มาสอนต่อให้ ซึ่งในตอนนี้เมืองไทยยังมีอาจารย์สอนงิ้วเก่งๆ อยู่หลายท่าน อาทิ อ.วิโรจน์ ตั้งวานิช อ.ถาวร สิกขโกศล โดยตนเองก็ได้ท่านเหล่านี้มาช่วยแปลบทกลอนจีนโบราณสำหรับเล่นงิ้วให้ เพราะถ้าแปลความหมายผิด ก็จะตีบทไม่แตก

“การแสดงงิ้วเป็นความเชื่อ” เป็นคำอธิบายที่เฮียเต็กต้องการจะบอกไปถึงคนรุ่นใหม่ที่ฟังและดูงิ้วไม่รู้เรื่อง พวกเขาจึงไม่เข้าใจว่าคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะเล่นงิ้วไปทำไม ยกตัวอย่างการเล่นงิ้วที่ต้องมีทุกปี ที่ตลาดเก้าห้อง บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ก็มีความเชื่อเรื่องเล่นงิ้วแล้วจะไม่เกิดอัคคีภัย ที่ภูเก็ตก็เล่นงิ้วเพื่อให้หายจากโรคระบาด ที่งานตรุษจีนปากน้ำโพก็มีงิ้วทุกปีต่อเนื่องมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป

ในเมืองไทยเรื่องที่นำมาแสดงงิ้ว ในช่วงแรกมักจะนำเรื่องจากเมืองจีนมาแสดง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนัก จึงต้องปรับมาเล่นเรื่องที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคย อย่าง สามก๊ก เปาบุ้นจิ้น ไซอิ๋ว โป๊ยเซียน หยางกุ้ยเฟย คนดูก็จะเข้าใจง่ายขึ้น เพราะการดูงิ้วอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่เคยดู แต่เฮียเต็กก็กระซิบบอกทางลัดสำหรับคนอยากดูงิ้วให้รู้เรื่องว่า ให้เข้าไปศึกษาหาความรู้เบื้องต้นจากเพจสมาคมอุปรากรจีน หรือเพจงิ้วเซนเตอร์ ซึ่งจะอธิบายถึงตัวแสดงแต่ละตัว ว่ามีบุคลิกลักษณะ การแต่งหน้า แต่งตัวแตกต่างกันอย่างไร  และเมื่อดูงิ้วเป็นก็จะรู้ว่างิ้วแต่ละเรื่องแฝงคติสอนใจ สอนให้กตัญญู สอนให้หมั่นเพียร สอนแต่สิ่งดีๆ 

เฮียเต็ก ทิ้งท้ายไว้ว่าทุกวันนี้ตนเองพยายามปรับรูปแบบการแสดงงิ้วให้ทันยุคสมัยและดูง่ายมากขึ้น ไม่ยึดติดว่าจะต้องเล่นเฉพาะงานที่ศาลเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่สามารถปรับเปลี่ยนไปโชว์ในศูนย์การค้า งานเลี้ยงบริษัท หรืองานเลี้ยงของครอบครัว การแสดงงิ้วก็เข้าไปมีส่วนร่วมได้ ที่สำคัญเฮียเต็กยังกล่าวขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรม ที่เข้าใจในวิถีชีวิตของนักแสดงงิ้ว และบรรจุการแสดงงิ้วเป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงพื้นบ้าน 9 ชนิดการแสดงของไทย จึงทำให้คนสนใจงิ้วมากขึ้น และเพราะอาชีพงิ้ว ก็ทำให้คนไทยหลายพันคนมีเงินทองหาเลี้ยงครอบครัวได้ เพราะนักแสดงงิ้วไม่เพียงแค่เล่นงิ้วในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังโกอินเตอร์ ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สร้างรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่เฮียเต็กภาคภูมิใจ เพราะเด็ก ๆ ที่ตนเองได้ปั้นแต่งมา นอกจากจะมีอาชีพการงานที่สุจริตมั่นคงแล้ว พวกเขาก็ยังเป็นผู้สืบสานศิลปะการแสดงงิ้ว ให้คงอยู่ต่อไปด้วย

เข้าชม 981 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม