ดาวน์โหลดใบสมัครการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 35 ในหัวข้อ “เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด”

              บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดให้มีการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 35 ประจำปี 2563  เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินทุกระดับมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสนับสนุนการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย  โดยได้วางระเบียบการประกวด ดังต่อไปนี้


ประเภทศิลปกรรม ได้แก่

ผลงานประเภทจิตรกรรม  ประติมากรรม  ภาพพิมพ์  และผลงานสร้างสรรค์ทางด้านทัศนศิลป์อื่น ๆ


คุณสมบัติของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด

1.เป็นบุคคลสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย

2.เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปกรรมที่ส่งเข้าประกวดด้วยฝีมือและความคิดของตนเองและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงาน ที่เข้าประกวด ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคคล หรือบริษัทอื่นใด


3.เป็นผลงานที่ไม่เคยเข้าประกวดและไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน 

ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดแบ่งเป็น  2  ระดับ ดังนี้

1.ระดับเยาวชน มี 3 กลุ่ม

–   กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี         (แจ้งเกิดตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2554)

–   กลุ่มอายุ 9 – 13 ปี            (แจ้งเกิดตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2554)

–   กลุ่มอายุ 14 – 18 ปี          (แจ้งเกิดตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2549)

2. ระดับประชาชนทั่วไป     (แจ้งเกิดก่อนวันที่ 13 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไป)

หัวข้อการประกวด “เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด”    

ในยุคก่อน คำว่า เมือง เวียง หรือ เชียง หมายถึง ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีเจ้าปกครอง  เป็นเมืองกึ่งอิสระ ที่อยู่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน เนื้อที่หรือพื้นที่ของแต่ละเมืองจะติดกัน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาหลายร้อยปี “เมือง” ก็ยังคงเป็นคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย  แต่นิยามอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา ซึ่งปัจจุบัน “เมือง” หมายถึงเขตแดนในระดับต่างกันได้ เช่น เมืองไทย (ประเทศ) เมืองเชียงใหม่ (จังหวัด) เมืองไชยา (อำเภอ)  ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียก เมืองเล็ก เมืองใหญ่ เมืองหลัก หรือ เมืองรอง เหล่านี้ล้วนแล้วก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนพักพิงอาศัยอยู่

การอยู่รวมกันของผู้คนจำนวนมากนั้นย่อมส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2560 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า ในการสำรวจสภาพของอากาศในเมืองต่าง ๆ กว่า 3,000 เมืองทั่วโลก พบว่า 92% ของเมืองมีสภาพอากาศที่เป็นภัยต่อชีวิต โดย WHO ได้ระบุค่าเฉลี่ยของพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรต้องอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่สำหรับกรุงเทพฯ กลับมีพื้นที่สีเขียวเพียง 4,050 ไร่ หรือเทียบกับสัดส่วนประชากรมีเพียง 6.18 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ในขณะที่หลายเมืองในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยก็มีปัญหาอากาศในระดับที่แตกต่างกันไป

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถ ‘ลด ละ เลิก’ ความสะดวกสบาย ซึ่งนำพามาด้วยกิจกรรมที่สร้างมลภาวะทั้งฝุ่น และสารพิษ แนวทางสำคัญที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการสร้างเมืองสีเขียว เพราะการใส่หน้ากากของคนเมืองนั้นเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาระยะสั้น แต่การปลูกต้นไม้เป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาวเพราะต้นไม้ไม่เพียงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังสามารถดักจับฝุ่นละอองที่ครองเมือง อีกทั้งปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาให้ชีวิตคนเมือง เป็นเรื่องธรรมชาติ  ซึ่งนิยามของอากาศบริสุทธิ์ก็หมายถึงอากาศที่มีอยู่ในธรรมชาติที่ปราศจากมลพิษ ทั้งนี้ ถ้ามีอากาศดังกล่าว และมนุษย์สูดหายใจเข้าไปในปอด อากาศบริสุทธิ์เหล่านั้นจะเข้าไปซ่อมแซมอวัยวะ หรือ เซลล์ ให้แข็งแรงขึ้น

การจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 35 ประจำปี 2563 กำหนดจัดประกวดในหัวข้อ “เมืองเล็ก เมืองใหญ่ หายใจเต็มปอด” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจทุกระดับได้ช่วยกันสร้างธรรมชาติเมืองไทยในจินตนาการผ่านผลงานศิลปะทุกประเภท ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมให้ชุมชนเมืองได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ  ทั้งนี้ เมืองที่มีความทันสมัยนั้นมักจะแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายเสมอ อย่างไรก็ดี ธรรมชาติก็ไม่จำเป็นจะต้องหาได้เพียงในป่าเขา เพราะธรรมชาติเมืองล้วนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา  

การส่งงานเข้าประกวด 

1. เอกสารการรับสมัคร ประกอบด้วย

– ใบสมัครฉบับจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์  ดาวน์โหลดใบสมัคร คลิก >>>>ดาวน์โหลดใบสมัคร<<<<<

– สำเนาบัตรประชาชน หรือสูติบัตร ของผู้ส่งผลงานเข้าประกวดพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ชุด (ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมาย)

-สำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นผู้เยาว์)

2. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด มีสิทธิ์ส่งผลงานได้ไม่เกินคนละ 2 ชิ้น ต่อใบสมัคร 1 ใบ

3. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องกรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อีเมล พร้อมกรอกข้อมูลอื่น ๆ ลงในใบสมัครอย่างละเอียด  และชัดเจน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ                       

– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดระดับเยาวชน กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี และกลุ่มอายุ  9 – 13  ปี จะต้องส่งผลงานที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 40 x 60  เซนติเมตร หรือ ไม่ต่ำกว่าขนาด A2 และไม่เกิน  60 x 80 เซนติเมตร หรือไม่เกินขนาด A1 ทั้งนี้ไม่รวมกรอบหรือฐาน

– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดระดับเยาวชนกลุ่มอายุ 14 – 18 ปี จะต้องส่งผลงานที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 60 x 80 เซนติเมตรและมีความกว้าง ความยาว หรือความสูง ไม่เกิน 100 เซนติเมตร ทั้งนี้ไม่รวมกรอบหรือฐาน  

– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดระดับประชาชนทั่วไปจะต้องส่งผลงาน (กรณีที่ไม่ใช่ประติมากรรมหรือสื่อ 3 มิติ) ที่มีขนาดรวมกรอบ หรือฐานความกว้าง ความยาว หรือความสูงไม่เกิน 200 เซนติเมตร 

– ผู้ส่งผลงานประติมากรรม หรือสื่อ 3 มิติ จะต้องส่งผลงานที่มีขนาดรวมแท่น ฐาน และกรอบ (กว้างxยาวxสูง) ด้านละไม่เกิน 150 เซนติเมตร 

4. งานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย พร้อมที่จะติดตั้งได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน จะพิจารณาคัดเลือกเฉพาะผลงานที่มีคุณภาพและเหมาะสมเข้าร่วมแสดงผลงาน คณะกรรมการดำเนินงาน จะระวังรักษาผลงานที่เข้าประกวดอย่างดีที่สุด ยกเว้นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเหตุสุดวิสัย

5. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงให้ ปตท. มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวตลอดระยะเวลาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือ นำผลงานของผู้ส่งผลงานเข้าประกวดไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของ ปตท. โดยไม่มีค่าตอบแทน  ทั้งนี้ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงที่จะไม่ให้สิทธิแก่บุคคลอื่นในการดำเนินการข้างต้น โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงให้เอกสารใบสมัครนี้เป็นหนังสืออนุญาตให้สิทธิแก่ ปตท. ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายในการยื่นเอกสารการรับสมัคร)

การตัดสิน

      คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิดังต่อไปนี้   

ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานกรรมการ

อาจารย์ธงชัย  รักปทุม กรรมการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง กรรมการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร กรรมการ

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง กรรมการ

ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี กรรมการ

รองศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ กรรมการ

นายระยอง ยิ้มสะอาด           กรรมการ

ดร.สังคม ทองมี                 กรรมการ

อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว         กรรมการ

ผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร    กรรมการและเลขานุการ

1. การตัดสินจะไม่แยกประเภทในการให้รางวัลแต่จะถือคุณภาพของผลงานเป็นสำคัญ ผลการตัดสิน  ของคณะกรรมการถือเป็นที่ยุติ และคณะกรรมการฯ มีสิทธิ์เพิ่มหรือลดรางวัลใดรางวัลหนึ่งได้ตามความเหมาะสม 

2.คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกรางวัล และเรียกคืนรางวัลในภายหลัง หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ผลงานของผู้ส่งประกวดได้ลอกเลียนผลงานผู้อื่น หรือผู้สมัครมิได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง

3. คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษหลายระดับตั้งแต่ ตักเตือน จนถึงตัดสิทธิ์ผู้สมัคร ครู และสถาบันที่กระทำการอันไม่สุจริตทุกกรณี ในการส่งผลงานประกวดครั้งต่อไป

รางวัลพร้อมใบประกาศเกียรติคุณและทัศนศึกษา                        

1.  ระดับเยาวชน แบ่งรางวัลในแต่ละกลุ่ม ดังนี้

      กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี                

      รางวัลยอดเยี่ยม  1   รางวัล  เงินรางวัล       10,000 บาท  

      รางวัลดีเด่น         5   รางวัล  รางวัลละ          7,000 บาท  

      และได้รับสิทธิ์ไปทัศนศึกษา หรือตามที่ ปตท. กำหนด  รางวัลละ 2 ท่าน (ศิลปินและผู้ติดตาม)

      กลุ่มอายุ  9 – 13 ปี      

      รางวัลยอดเยี่ยม   1   รางวัล  เงินรางวัล      15,000 บาท  

      รางวัลดีเด่น          5   รางวัล  รางวัลละ       10,000 บาท  

      และได้รับสิทธิ์ไปทัศนศึกษา หรือตามที่ ปตท. กำหนด  รางวัลละ 2 ท่าน (ศิลปินและผู้ติดตาม)

      กลุ่มอายุ 14 – 18 ปี  

      รางวัลยอดเยี่ยม   1   รางวัล  เงินรางวัล       20,000 บาท  

      รางวัลดีเด่น         5   รางวัล  รางวัลละ        15,000 บาท  

      และได้รับสิทธิ์ไปทัศนศึกษาต่างประเทศ หรือตามที่ ปตท. กำหนด

 2.  ระดับประชาชนทั่วไป 

      รางวัลยอดเยี่ยม    1   รางวัล  เงินรางวัล     200,000  บาท

         รางวัลดีเด่น      5   รางวัล  รางวัลละ      100,000  บาท

      และได้รับสิทธิ์ไปทัศนศึกษาต่างประเทศ หรือตามที่ ปตท. กำหนด

หมายเหตุ 

– ผู้ที่ได้รับรางวัลทุกระดับ เฉพาะเงินรางวัลจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

– ขอสงวนสิทธิ์เฉพาะผู้ที่สามารถเดินทางตามวันที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนด และไม่สามารถเปลี่ยนแปลง และ/หรือเรียกร้องเป็นเงินคืนได้

กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ในผลงานที่ได้รับรางวัล

ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลตกลงว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของ ปตท. และตกลงโอนลิขสิทธิ์ในผลงานดังกล่าวให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสิทธินำผลงานที่ได้รับรางวัลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โดยไม่มีค่าตอบแทน

ทั้งนี้ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดที่ได้รับรางวัลข้างต้นให้คำรับรองว่า ภายหลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็น ผู้ได้รับรางวัลแล้ว จะทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รับรางวัลให้กับ ปตท. ต่อไปภายในระยะเวลาที่ ปตท. กำหนด 

การส่งผลงาน 

ส่งผลงานด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 1 – 7 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 – 16.00 น. ได้ที่ 

–  ชั้น 1 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร 

   วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โทร. 09 7242 9333 

–  คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา  โทร. 0 7431 7619 

–  คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โทร. 0 3810 2222 ต่อ 2510 

–  คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โทร. 0 4320 2396

–  หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5321 8280 

ส่งทางไปรษณีย์  (กรุณาส่งด้วย EMS เท่านั้น)  

ส่งถึง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา  มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000  โดยผลงานต้องส่งถึงศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ ระหว่างวันที่ 1 –  5 มิถุนายน 2563 เท่านั้น

ตัดสินการประกวด   

  วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2563

ประกาศผลการตัดสิน

วันที่ 25 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และ www.pttplc.com และสื่อฯ ตามที่ ปตท. กำหนด


การรับผลงานคืน  

ผลงานที่ได้รับเกียรติบัตร และผลงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือก

–  รอบแรก รับผลงานคืนระหว่างวันที่ 18 – 21 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 – 16.00 น.  ณ  ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

   เฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ 

   จังหวัดนครปฐม โทร. 09 7242 9333 (โดยจะแจ้งทางโทรศัพท์ให้มารับผลงานคืนจากเบอร์ติดต่อ

   ที่ให้ไว้ในใบสมัคร)

  –  รอบสอง รับผลงานคืนระหว่างวันที่ 25 – 30 มิถุนายน 2563  ณ  คลังเก็บภาพ ปตท. กรุงเทพมหานคร

  โทร. 0 2537 2159, 0 2537 1388 

** สามารถรับผลงานคืนได้ในระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวันทำการ  ทั้งนี้ หากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดไม่มารับผลงานคืนภายในวันและเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงให้กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ในผลงานชิ้นที่ส่งเข้าประกวดนั้น เป็นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) **

เข้าชม 259 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม

ข่าวแนะนำ