กองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม โดยหออัครศิลปิน จัดกิจกรรม “นาฏยรื่นรมย์ สานศิลป์ รักษ์โขนไทย” ระหว่างวันที่ ๖ – ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ หออัครศิลปิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีสถาบันการศึกษา หน่วยงานในพื้นที่ และเครือข่ายด้านนาฏยศิลป์หลายแห่งที่ได้นำเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนกว่า ๖๐๐ คน ประกอบด้วย โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม โรงเรียนบางชวดอนุสรณ์ โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โรงเรียนชุมชนวัดหัตถสารเกษตร โรงเรียนธัญสิทธิศิลป์ โรงเรียนวัดศิริจันทาราม โรงเรียนปากคลองสอง โรงเรียนวัดสว่างภพ โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา โรงเรียนเทศบาลเมืองท่าโขลง โรงเรียนวัดผลาหาร โรงเรียนคลองห้าฯ โรงเรียนสามโคก โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์รัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย – ละคร) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์และศิลปะการแสดงโขนชั้นสูงของไทยให้แก่เด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ในกิจกรรมโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ หวังให้เด็กไทยสานต่อนาฏศิลป์ โขน ละคร ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติอย่างยั่งยืน
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่เข้ารับการฝึกอบรม นอกจากจะได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการแสดงโขนแล้ว ยังได้มีโอกาสชมการแสดงโขนรามเกียรติ์ แบบสดๆ โดยนักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์อุตรดิตถ์ ประกอบด้วย ตอนสีดาหาย ตอนจองถนน ตอนถวายพล ตอนยกรบ และยังได้ร่วมการแสดงโขนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่ายอบรมนาฏศิลป์ นำมาประยุกต์และแสดงในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การสาธิตทางวัฒนธรรม ได้แก่ การทำปูนปั้นรามเกียรติ์ การระบายสีหัวโขน การทำกระบองทศกัณฑ์(ไอติมหลอด) การทำหนุมานลุยไฟ(ข้าวโพดคั่ว) การทำสีดาลงสรง(ก๋วยเตี๋ยว) การทำอุทรมัจฉา(กระเพาะปลา) และได้ชม ชิมอาหาร ขนมไทย รสชาติในแบบดั้งเดิม ณ ซุ้มกิจกรรมการสาธิตคหกรรม อีกด้วย
อนึ่ง ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยหออัครศิลปิน จัดกิจกรรมการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโขน มุ่งหวังส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาและเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญา “โขน” ด้วยการแสดงโขนในประเทศไทย นี้ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ ๑๓ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองในโอกาสที่มรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของประเทศไทยได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ และเพื่อให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืน.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน