ดราม่ากระเบนนก! ความเห็นแตก “นักชิม VS นักอนุรักษ์” กรมประมงย้ำไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรทำสิ่งนี้?

กลายเป็นประเด็นเดือดในโลกโซเชียลมีเดียทันที หลังรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดังนำปลากระเบนนกมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร แม้ทางรายการจะออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่ปลากระเบนนก แต่เป็นปลากระเบนยี่สน หรือปลากระเบนเนื้อดำ อีกชื่อคือปลากระเบนค้างคาว และเป็นอาหาร OTOP ของ จ.เพชรบุรี โดยมีเหล่าคนดังที่รักทะเลและชอบดำน้ำออกมาแสดงจุดยืน ไม่สนับสนุนการกินเนื้อปลากระเบนที่หายากทั้ง  “ปั้นจั่น ปรมะ” และ “ไผ่ พาทิศ” แต่กลับถูกคอมเม้นต์ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนจากชาวเน็ตที่คิดต่าง ด้วยความเชื่อว่าเป็นปลากระเบนคนละชนิด และคืออาหารที่กินมานาน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะคิดอย่างนั้น    


ก่อนที่วันนี้ (5 มี.ค. 62) นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง จะออกมายืนยันว่า “ปลากระเบน” ในรายการดังกล่าวคือ ปลากระเบนนกจุดขาวสำหรับปลากระเบนนกจุดขาว หรือปลากระเบนค้างคาว


โดยในเฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กรมประมง  มีข้อมูลชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นที่กำลังถกเถียงจับปลากระเบนนกมารับประทานผิดกฎหมายหรือไม่?  กรมประมงเผยชัดไม่ผิดกฎหมายแต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเนื่องจากสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้เป็นสัตว์น้ำชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับท้องทะเลมากกว่านำมาบริโภค


นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีปลากระเบนที่ปรากฏอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหาร จากการตรวจสอบ มี 2 ชนิดพันธุ์คือ กระเบนหิน และ กระเบนนกจุดขาวสำหรับปลากระเบนนกจุดขาว หรือปลากระเบนค้างคาว หรือ ปลากระเบนยี่สนอยู่ในวงค์ปลากระเบนนก (Myliobatidae) เป็นปลากระเบนทะเลที่พบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงน่านน้ำประเทศไทยที่สามารถพบเห็นได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีลักษณะเด่น 

มีผิวหนังเรียบ ด้านหลังมีสีดำมีจุดขาวกระจาย ด้านท้องมีสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระเหมือนนกบิน มีขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยพบสูงสุดถึง 3 เมตร น้ำหนัก 230 กิโลกรัม อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามชายฝั่งทะเลแนวปะการัง ส่วนปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำ กินปลาขนาดเล็กหอยปลาหมึกกุ้งและปูเป็นอาหาร

สำหรับในประเทศไทยปลากระเบนนก เป็นสัตว์น้ำพลอยได้จากการทำประมงไม่อยู่ในเป้าหมายการจับของชาวประมง และไม่มีเครื่องมือที่ใช้จับเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าปลากระเบนนกจะเป็นสัตว์น้ำที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหรือบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกจำนวน 1,038 ชนิด ขึ้นใน IUCN Red List สำหรับปลากระเบนนกชนิดนี้แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี IUCN Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์เนื่องจากการประเมินสถานภาพพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว 

ดังนั้นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้ลดน้อยลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงหากจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจขอให้ช่วยกันปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดมาตรการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเน้นการทำการประมงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นเรื่องที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิดถึงแม้อาจไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจและไม่ถูกนิยมมาบริโภค แต่ก็สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี :- ไนน์เอ็นเตอร์เทน 

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง , IG punjanprama , paipartith

 

View this post on Instagram

นี้ข้อมูลครับ มันไม่ผิดหรอกครับทางกฎหมาย จากเรื่อง eagle ray ทาง digitalay ขอสรุปประเด็นตามนี้นะโดยในตอนดังกล่าวมีการใช้ปลากระเบนเป็นวัตถุดิบหลักในการแข่งขันทำอาหาร ซึ่งการใช้ปลากระเบนทำอาหารนั้นเป็นเมนูปรกติของไทย และหลายชาติมานาน และไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรหากเป็นปลากระเบน (หรือสัตว์อื่นใดก็ตาม) ที่พบได้ทั่วไปและไม่ได้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในภาพจะเห็นว่ามีการโชว์ปลากระเบนตัวใหญ่ (ตัวบนสุดลายจุดๆ) ซึ่งน่าจะเป็นกระเบนนก Aetobatus ocellatus หรือ กระเบนค้างคาว Aetobatus narinari ปัญหาคือ 1. ทั้งสองตัวนี้ถูกจัดอยู่ใน IUCN Red List of Threatened Species หรืออยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลก — ปลากระเบนนก Aetobatus ocellatus ถูกจัดอยู่ในระดับ Vulnerable (เท่ากับเต่ามะเฟือง) — ปลากระเบนค้างคาว (หรือปลายี่สน หรือ กระเบนเนื้อดำ) Aetobatus narinari ถูกจัดอยู่ในระดับ Near Threatened (เทียบเท่ากับนกเงือกหลายๆ ชนิดในไทย) การที่นำ eagle ray มาเป็นวัตถุดิบนั้นในแง่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ต่างอะไรกับการนำเต่ามะเฟือง หรือ นกเงือก มาทำอาหารเลย 2. ข้อมูลของกรมประมงบ่งชี้ว่า อัตราการจับได้ของกระเบนในประเทศไทยลดลงกว่า 70% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมากกว่าฉลามด้วยซ้ำ นั่นแปลได้ว่า กระเบนเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามจนจำนวนประชากรลดลงอย่างน่าตกใจ แม้จะมีข้อมูลดังกล่าว แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองกระเบนทั้ง 2 ประเภทนี้ ดังนั้นการที่รายการจะใช้กระเบนดังกล่าวจึงไม่ผิดกฎหมายใดๆ ในทางปฏิบัติแล้วการนำสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มาใช้ประกอบอาหารออกรายการโทรทัศน์นั้นเหมาะสมหรือไม่ ลองชั่งน้ำหนักกันดูด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ครับ /เอ้ ขอเพิ่มเติมเรื่องการเพาะเลี้ยง eagle ray จากข้อมูลโดยคุณ Shin Arunrugstichai Photography ครับ Eagle ray เคยเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ครั้งแรกช่วงยุค 80 ที่ Aquarium ในญี่ปุ่น และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่อังกฤษใน Aquarium เช่นกัน ปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงแบบฟาร์มสำหรับการพาณิชย์ได้ครับ

A post shared by pj (@punjanprama) on

View this post on Instagram

3 ครั้งในชีวิตที่เคยเจอกระเบนนกในธรรมชาติ ประทับใจทุกครั้งกับความงดงามที่ยังมีชีวิต ครั้งแรก ตอนถ่ายละครที่ท่าเรือแสมสาร เค้ากระโดดบินเหนือน้ำเลย ครั้งที่สอง ตอนดำน้ำที่ฟิลิปปินส์ ครั้งที่สาม ตอนฟรีไดฟ์ ที่นาคินโย พม่า ตามวีดีโอนี้ สรุป ยังไม่เคยดำน้ำเจอในประเทศไทยเลย คือ ปัจจุบันมันพบเจอได้ยากนะ เพราะมันขยายพันธุ์คราวละไม่มาก ครั้งละไม่เกิน20 ตัวหรอก ไม่ได้วางไข่เหมือนปลาทั่วไป แล้วกว่าจะมีชีวิตรอดเติบโตได้แบบนี้ก็ใช้เวลานาน สวนทางกับการประมงทั่วโลกที่พัฒนาการจับสัตว์น้ำที่ไปถึงระดับทำลายล้าง จนหลายสายพันธุ์สูญพันธุ์และใกล้สูญพันธุ์ ถึงตอนนี้ มนุษย์ควรหันมาใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกันให้มากกว่าเดิมได้แล้ว เพราะมนุษย์ต้องการโลก แต่โลกไม่ได้ต้องการมนุษย์นะจ๊ะ #iucnredlist #ใกล้สูญพันธุ์ #shark #mantaray #eagleray #ความรู้ยุคปัจจุบัน

A post shared by paipartith (@paipartith) on

เข้าชม 47 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม