โรงหล่องานศิลปะ Polich Tallix ในนิวยอร์ก และ โรงชุบ Epner Technology ในเมืองบรู๊คลิน คือผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์รางวัลออสการ์ ซึ่งมีความสุง 13.5 นิ้ว น้ำหนัก 8.5 ปอนด์ มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
โดยขั้นตอนการทำตุ๊กตาออสการ์ ต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน เพราะมีความยุ่งยากหลายสเต็ป ตั้งแต่ หลอมเบ้าหล่อ 3 มิติขึ้นมา จากนั้นก็นำไปจุ่มในเซรามิกอีก 10 ครั้ง ก่อนไปเผาไฟ เพื่อให้เกิดเป็นโครงขึ้นมา ทีนี้ ก็ได้เวลาเททองสัมฤทธิ์เหลวร้อนๆ ลงไป พอเย็นได้ที่ ก็ทุบเซรามิคให้แตก เราก็จะได้โครงตุ๊กตาออสการ์อย่างที่เห็น แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้เลย เพราะตุ๊กตาออสการ์แต่ละตัว ต้องถูกนำไปขัดให้ขึ้นเงา วาววับซะก่อน
ปีเตอร์ รอส เจ้าหน้าที่แผนกขัดเงาของ Polic Tallix เล่าว่า การขัดเงา ต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่ละคน ก็จะตรวจตรา จนมั่นใจว่า ตัวรางวัลอยู่ในสภาพที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบและได้มาตรฐานของทางโรงหล่อ
จากนั้น ตุ๊กตาออสการ์ ก็จะถูกขนส่งไปยังโรงชุบ Epner Technology เพื่อนำไปชุบทอง 24 กะรัต ด้วยกระบวนการทางเคมีไฟฟ้า และที่เจ๋งไปกว่านั้น คือ ทองคำที่ใช้เคลือบรางวัลออสการ์ คือตัวเดียวกันกับที่ ใช้สร้างดาวเทียมพยากรณ์อากาศเมื่อ 35 ปีก่อน และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ขององค์กรนาซ่า เลยทีเดียว
โดยทาง Epner จะทยอยทำรางวัลออสการ์ วันละ 5 ตัว เพื่อให้ครบ 60 รางวัล และเพราะไม่มีใครรู้ว่า วันจริงใครจะเป็นผู้ชนะในแต่ละสาขา ดังนั้น ทาง Epner ก็ต้องทำป้ายชื่อผู้เข้าชิงทุกคน ในทุกรางวัลเผื่อไว้ล่วงหน้า เรียกว่าวันจริงใครชนะ ก็มีป้ายชื่อให้เสร็จสรรพไว้แล้ว
พอเสร็จขั้นตอนการเคลือบตุ๊กตาด้วยทองคำแล้ว ก็ยังต้องนำกลับมาส่งให้โรงหล่อ Polich Tallix เพื่อให้นำมาติดกับแท่นรองรางวัล ซึ่งเป็นสีดำทองแดงอีกที แต่รางวัลอันทรงเกียรตินี้จะอยู่ในมือของใคร รอลุ้นผลพร้อมกันได้เช้าวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ตามเวลาบ้านเรา