เหตุยิงกราดครั้งล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นโรงเรียน Marjory Stoneman Douglas ในรัฐฟลอริด้า ถือเป็นเหตุยิงกราดในโรงเรียน ครั้งที่ 18 ของปี 2018 ในสหรัฐอเมริกาทั้งที่เพิ่งผ่านมาได้แค่เดือนครึ่งเท่านั้น แถมผู้ก่อเหตุครั้งนี้ยังเป็นแค่เด็กนักเรียนอายุ 19 ปีที่ถูกทางโรงเรียนไล่ออกเพราะเกเรจัดอีกด้วย และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือ การที่อดีตหัวหน้าตำรวจนิวยอร์ก บิล แบรทตั้น พูดเลยว่า การยิงกราดในโรงเรียน จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาต่อไปหลังจากนี้
งานนี้จึงไม่แปลกที่ คนดังในฮอลลีวูด หลายต่อหลายคน จะออกมาเรียกร้องผ่านสื่อโซเชียลให้มีการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาอย่างจริงจังสักที โดยคุณแม่ลูกสาม “คิม คาร์ดาเชี่ยน” บอกเลยว่า การมานั่งสวดมนต์ไม่ช่วยอะไร สภาคองเกรสควรจะทำหน้าที่ในการปกป้องชาวอเมริกันจากความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืนมากกว่า ส่วนพิธีกรฝีปากกล้า “เพียซ มอร์แกน” ก็เรียกร้องให้อเมริกาสั่งแบนอาวุธปืนไรเฟิล ไปจนถึงนิตยสารขายปืนพวกนี้ด้วย แต่ที่เด็ดกว่า คือ ดารานักเคลื่อนไหว “มีอา ฟาร์โรล” ออกมาตีแผ่ให้รู้กันไปเลย นักการเมืองผู้ออกกฎหมายที่ได้รับเงินจากสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ หรือ NRA จนทำให้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนเป็นหมันมาตลอด และทุกวันนี้สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืนสูงที่สุดในโลก
ถึงอย่างนั้น ก็มีคำถามตามมาว่า ในขณะที่ ดาราทั้งหลาย ออกมาเรียกร้องให้ควบคุมอาวุธปืน แต่อุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูด กลับมีฉากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกา มีการจัดเรทหนังเมื่อปี 1985 ก็มีฉากใช้ปืนเพิ่มขึ้นในหนังราว 51 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
จากผลสำรวจของหน่วยงาน U.S. Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC เมื่อปีก่อน พบว่า อาวุธปืนเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของเด็กในสหรัฐอเมริกา เฉลี่ย มีเด็ก 1300 คนตาย หรือบาดเจ็บ เพราะอาวุธปืนต่อปี
จนนำไปสู่การศึกษาว่า การดูหนัง มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กหรือไม่ ซึ่งจากการนำเด็กอายุ 8-12 ปี จำนวน 104 คน ให้ดูหนังเรื่องเดียวกัน แต่กลุ่มหนึ่งจะได้เห็นฉากการยิงปืนสู้กัน ส่วนอีกกลุ่มจะได้ดูเวอร์ชั่นที่ตัดฉากความรุนแรงนั้นออกไปแล้ว จากนั้นก็ให้เด็กๆ ทั้งหมดนั่งเล่นในห้อง ซึ่งมีของเล่นและปืนจริงที่ถูกดัดแปลงให้ปลอดภัยแล้ววางไว้ ผู้ทำการสำรวจพบว่า เด็กส่วนใหญ่เข้าไปจับปืนเป็นปกติ เพียงแต่เด็กที่เห็นฉากยิงปืนในหนัง จะมีแนวโน้มที่จะหยิบปืนขึ้นมา และพยายามเหนี่ยวไกมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดู นั่นหมายความว่า ฉากความรุนแรงในหนังกระตุ้นให้เด็กสนอกสนใจกับอาวุธปืนมากขึ้นกว่าเดิม
แม้จะผลสำรวจที่เหมือนจะชี้ชัดว่า สื่อมีอิทธิพลให้เกิดความรุนแรงในสังคม และนั่นทำให้ผู้สร้างหนังหลายคนถูกมองว่า ควรมีส่วนในการแก้ปัญหานี้ และหนึ่งในนั้น คือผู้กำกับ “เควนติน ทาเรนติโน่” ซึ่งผลงานของเขามีจุดขายอยู่ที่ความรุนแรง ระดับเลือดสาดเลยทีเดียว แต่ “เควนติน” เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2013 ว่า มันไม่น่าเกี่ยวกัน เพราะไม่ใช่ว่า คนดูหนังของเขาทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาหยิบปืนยิงคนอื่นเสมอไป
ขณะที่ องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อลดปัญหาความรุนแรงของการใช้อาวุธปืน ก็ยอมรับว่า หนังไม่ใช่ตัวสร้างปัญหาเลยซะทีเดียว เพราะมันเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมขึ้น ทั้งยังเห็นด้วยที่ควรจะมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มข้นกว่านี้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ประเทศอื่นอย่าง แคนาดา หรือ สวิสเซอร์แลนด์ ก็มีจำนวนผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขามีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืนที่เคร่งครัดกว่า แต่ถ้าให้ดีผู้สร้างหนังฮอลลีวูดก็ควรรับผิดชอบต่อสังคมให้มากกว่านี้ ด้วยการสอดแทรกให้เห็นโทษของความรุนแรงจากอาวุธปืน ไม่ใช่การนำเสนอภาพที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า การสร้างความรุนแรง คือความเท่แบบนึง