งานประกาศรางวัลกับการเป็นเวที สะท้อนประเด็นทางการเมืองและสังคม

ประเดิมกันด้วยเรื่องฮอตข้ามปีอย่าง “การคุกคามทางเพศ” ที่ทำเอาบรรดาคนดังนัดกันแต่งกายชุดดำมาร่วมงานลูกโลกทองคำประจำปีนี้ เพื่อสื่อถึงความไม่พอใจกับปัญหาการคุกคามทางเพศในฮอลลีวูด ขณะที่ผู้ชนะรางวัลหลายคน โดยเฉพาะสาวๆ  ก็ถือโอกาสระหว่างขึ้นรับรางวัล กล่าวถึงปัญหาการคุกคามทางเพศไปจนถึง ความเลื่อมล้ำทางเพศในฮอลลีวูด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรตัวแม่ “โอปราห์ วินฟรีย์” ผู้หญิงผิวสี ผู้เป็นเจ้าของรางวัลเกียรติยศ Cecil B. Demille (เซซิล บี เดอ มิลล์) คนแรกในประวัติศาสตร์งานลูกโลกทองคำ ที่ประกาศกร้าวกลางเวทีว่า หมดยุคของผู้ชายที่ใช้อำนาจคุกคามคนอื่นแล้ว จนได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้องจากคนในวงการเดียวกัน   


ไม่ต่างกับที่นักแสดงเจ้าบทบาท “แพทริเชีย อาร์เคตต์” ซึ่งใช้โอกาสที่คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Boyhood เมื่อปี 2015 ในการเรียกร้องค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงความเสมอภาค และสิทธิระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในสหรัฐฯ
จนได้รับเสียงชื่นชมจากเพื่อนร่วมวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักแสดงรุ่นใหญ่ เมอรีล สตรีพ และเจนนิเฟอร์ โลเปซ


ขณะที่ “มาร์ลอน แบรนโด” ก็สร้างประวัติศาสตร์ให้กับงานออสการ์ครั้งที่ 45 เมื่อเขาส่ง “ซาชีน ลิตเทิลเฟเธอร์” (Sacheen Littlefeather)
สาวอเมริกันพื้นเมืองในชุดอินเดียนแดง มาเป็นตัวแทนปฏิเสธรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหนัง The God Father และเป็นตัวแทนกล่าวเรียกร้องความเป็นธรรมในการปฏิบัติต่อชนพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอภาพของอินเดียนแดงในสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง


ขณะเดียวกันเรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดบนเวทีประกาศรางวัล ทั้งครั้งที่อดีตรองประธานาธิบดี “อัล กอร์” ขึ้นรับรางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยมจากเรื่อง “An Inconvenient Truth” โดยเขาได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตที่คนทั่วโลกต้องช่วยกันกอบกู้และแก้ไข พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง เช่นเดียวกับพระเอกรักษ์โลก “ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ” ที่พูดถึงเรื่องนี้ขณะรับรางวัลออสการ์ตัวแรกในชีวิตเมื่อปี 2016 จากหนังเรื่อง The Revenant  โดยได้เล่าถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะถ่ายทำหนังเรื่องนี้ พร้อมกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวและร่วมมือแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและคุกคามสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์

นอกจากประเด็นสังคมแล้ว เรื่องร้อนๆ อย่างการเมืองและผู้นำสหรัฐฯ ก็ไม่พ้นถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ “ไมเคิล มัวร์” ขึ้นรับรางวัลออสการ์สาขาหนังสารคดียอดเยี่ยมจากเรื่อง  Bowling for Columbine (โคลัมไบน์) เมื่อปี 2003  เขาใช้เวทีนี้สับเละ “จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ที่ตัดสินใจเปิดฉากโจมตีและทำสงครามในอิรัก ส่วนนักแสดงมากฝีมือ “เมอรีล สตรีพ” ก็ใช้โอกาสที่รับรางวัลเกียรติยศ Cecil B. Demille ในงานลูกโลกทองคำเมื่อปีที่แล้ว วิจารณ์นโยบายกีดกันคนต่างชาติของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ผู้นำเมืองลุงแซมในขณะนั้น รวมถึงเหตุการณ์ที่ทรัมป์ล้อเลียนผู้สื่อข่าวที่มีความบกพร่องทางร่างกายระหว่างไปหาเสียง

ปิดท้ายด้วย ผู้กำกับชาวอิหร่าน “อัสการ์ ฟาร์ฮาดี” ที่ไม่ไปร่วมงานออสการ์เมื่อปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่หนัง The Salesman ของเขามีลุ้นรางวัลสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม เพื่อต่อต้านนโยบายของทรัมป์ ที่สั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิม เข้าสหรัฐฯ ซึ่งอิหร่าน ก็เป็นหนึ่งในนั้น ถึงอย่างนั้นเขาก็ส่งตัวแทนดีกรีนักบินอวกาศหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่านมารับรางวัลแทน และก็ไม่พลาดส่งสารมาประณาม ทรัมป์ ว่านโยบายนี้สะท้อนถึงความไร้มนุษยธรรมอย่างแท้จริง

เข้าชม 12 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม