กว่าจะได้เห็นเบื้องหน้าที่ฉาบไปด้วยความสมบูรณ์แบบ ความสุข และรอยยิ้มแบบนี้ ศิลปินเคป๊อปหลายคนก็ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนัก ท่ามกลางการแข่งขัน ความเครียดและความกดดัน ไม่เว้นแม้แต่แลกชีวิตส่วนตัวที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของต้นสังกัดแบบทุกฝีก้าว ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของ “ฮโยมิน” แห่งเกิร์ลกรุ๊ป T-ara ที่เปิดใจกับสื่อเกาหลีเมื่อเร็วๆ นี้น่าจะเป็นกระจกสะท้อนความตึงเครียดเรื่องนี้ได้ดี เธอเล่าย้อนกลับไปตอนช่วงที่พีคสุดๆ ว่า ตอนนั้นต้นสังกัดเคยยึดมือถือของเธอๆ และเพื่อนร่วมวงตามกฎ พร้อมบอกด้วยว่า การออกจากหอพักโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นการทำผิดกฎแบบเต็มๆ ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่วายแอบใช้มือถือแบบเติมเงิน หรือแม้แต่แอบหนีเที่ยว ออกไปนั่งชิวที่ร้านกาแฟอยู่ดี
ทั้งนี้การยึดมือถือ และการให้ศิลปินกลุ่ม พักรวมอยู่ด้วยกันในหอพักกลายเป็นธรรมเนียมของวงการเพลงเค-ป๊อปไปซะแล้ว ไม่เว้นแม้แต่วงดนตรีแถวหน้าอย่าง BTS ที่แม้จะโด่งดังไปถึงฝั่งอเมริกาก็ยังต้องยู่ในหอพักศิลปินที่บริษัทจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อบริหารจัดการทุกอย่างได้อย่างสะดวก และเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่ว่า ศิลปินนั้นเข้าถึงยากและไม่ได้เจอตัวกันง่ายๆ
แม้หลายคนจะมองว่า การจะได้เป็นเด็กฝึกของค่ายบันเทิงเพื่อเข้ารับการเทรนทักษะด้านต่างๆ โดยมืออาชีพแรมปีนั้นยากแล้ว แต่ “อีฮัคจุน” ผู้สื่อข่าวและเจ้าของผลงานหนังสือ Being a Girl Group in Korea กลับมองว่า การจะได้เป็นศิลปินที่ได้เดบิวต์นั้นยากยิ่งกว่า เขาถ่ายประสบการณ์การตามติดสาวๆ วง Nine Muses (ไนน์ มิวเซส) อยู่หลายเดือนก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ว่า สาวๆ ต้องเจอความกดดันทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถึงขั้นที่ว่าต้นสังกัดอย่าง Star Empire Entertainment พาสมาชิกตัวสำรองมาซ้อมร้องซ้อมเต้นด้วยกับพวกเธอ ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเปิดตัวแล้วก็ตาม เพื่อให้สมาชิกทุกคนรู้ตัวไว้เลยว่า มีคนพร้อมเสียบแทนเธอได้ทุกเมื่อหากศิลปินเหล่านั้นไม่พร้อม
และเพราะทุกอย่างคือธุรกิจ เรียกว่าเม็ดเงินหลายพันล้านวอนที่ลงทุนปั้นศิลปินสักวงตั้งแต่เป็นเด็กฝึกหัดมากเป็นแรมปี จะหายไปกับสายลมหรือออกดอกออกผล ตัดสินกันด้วยเสี้ยววินาทีที่เปิดตัวศิลปินวงนั้นๆ “อีฮัคจุน” เลยมองว่าสิ่งเหล่านี้เลยเอื้อให้ระบบการทำงานเข้มงวดไปซะทุกอย่าง เพราะถ้าศิลปินดังเปรี้ยงก็ดีไปเท่ากับค่ายได้กำไรไปด้วย แต่ถ้าหาก “แป้ก” นั่นหมายถึงภาวะขาดทุน และการแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ
ขณะเดียวกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการค้ายุติธรรมของเกาหลีใต้ หรือ Fair Trade Commission สั่งให้ค่ายบันเทิงแถวหน้าหลายค่ายทบทวนและแก้ไขเรื่องสัญญาทาส โดยเฉพาะประเด็นที่มีการระบุในสัญญา ซึ่งกดดันให้ศิลปินในค่ายต้องต่อสัญญาใหม่ทันทีเมื่อหมดสัญญา หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินคืนให้กับบริษัทเป็นจำนวน 2-3 เท่าของที่ลงทุนไปหากตัดสินใจยกเลิกสัญญา ส่วนทิศทางการแก้ไขปัญหาและระบบการทำงานจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ต้องติดตามกันต่อไป