“ซึมเศร้า” แล้ว “ฆ่าตัวตาย” กำลังเป็นประเด็นในสังคมที่ถูกพูดถึงอย่างเข้าใจอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในสังคม เพราะคนที่เคยสัมผัสกับโรคนี้คงเข้าใจภาวะ “จมดิ่ง” ของความรู้สึกได้ลึกซึ้ง ท่ามกลางสังคมที่มีชุดความเชื่อว่า “เข้มแข็ง” คือ “อยู่รอด” ถ้า “อ่อนแอ” ก็แพ้ไป! อาจเป็นความจริงที่ซุกซ่อนความ “เจ็บปวด” ดู “แห้งแล้ง” และไร้น้ำใจ จนทำให้มนุษย์ไม่กล้าแสดงความ “อ่อนแอ” เพราะมักจะมาคู่กับการถูก “เอาเปรียบ” ถูกมองว่า “พ่ายแพ้” เป็น “Loser” (คนขี้แพ้) ที่ไม่น่ามอง
ในทางตรงกันข้าม ความจริงอีกด้านคือ มนุษย์บนโลกต่อให้ “เข้มแข็ง” และ “ยิ่งใหญ่” ขนาดไหน ต้องเคยก้าวผ่านความอ่อนแอ พ่ายแพ้ และเสียน้ำตา ทว่า “โรคซึมเศร้า” ไม่ใช่ภาวะของ “ความอ่อนแอ” เพราะคนปกติเมื่อรู้สึก ท้อแท้ เสียใจ จะสามารถเยียวยาตัวเองให้ลุกขึ้นสู้ใหม่ ด้วยชุดความเชื่อที่สร้างพลังใจ ตรงกันข้ามกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถสลัดความรู้สึก “จมดิ่ง” ด้านลบออกไปได้ เพราะสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ หรือ เกิดจากปัจจัยภายนอกมากระทบอย่างรุนแรง มีความผิดหวัง สูญเสีย เครียด มารวมกันจนทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้
เหมือน “จงฮยอน” นักร้องบอยแบนด์เกาหลีชื่อดังแห่งวง “ชายนี่” ซึ่งฆ่าตัวตายด้วยการรมควันพิษ เขาเคยเปิดใจให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเอสไควร์ (Esquire) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่เด็ก และปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ เขาต้องต่อสู้อย่างหนักที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอยากให้คนอื่นเข้าใจเขาด้วย
เหตุการณ์นี้ “ช็อกแฟนคลับ” ของนักร้องดัง และทำให้คำว่า “โรคซึมเศร้า” ติดเทรนด์ใน “ทวิตเตอร์” มีคนที่เป็นโรคนี้ออกมาแสดงตัวมากมาย พร้อมแนะแนวทาง ป้องกัน แก้ไข อย่างเข้าใจ รวมถึงแชร์วิธีการมองคนป่วยซึมเศร้าด้วย “ความเมตตา” ต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ลด “อัตตา” ของคนที่เชื่อว่าตัวเองเข้มแข็ง แล้วตีค่าผู้ป่วยซึมเศร้าว่า “อ่อนแอ – ขี้แพ้”
เช่นเดียวกับการที่ “พญ.เบญจพร ตันตสูติ” หรือ “หมอมินบานเย็น” เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจดัง “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” เขียนอธิบายโรคนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจด้วยใจความตอนหนึ่งว่า “ที่สำคัญไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะอ่อนแอ หรือคุณจะดราม่ากว่าคนอื่น มันคือความเจ็บป่วยที่รักษาให้หายได้
ในประเทศไทยมีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตว่า มีคนที่มีภาวะซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน และโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย รอบๆ ตัวเรา อาจมีใครสักคนที่กำลังเผชิญกับภาวะนี้ แต่ที่สำคัญ จะสังเกตยังไงว่าใครซึมเศร้า และจะช่วยเขาได้อย่างไร คนที่มีโรคหรือภาวะซึมเศร้า อาจมีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรืออาจจะเป็นลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย
คำพูดประมาณว่า “ไม่เป็นไรมากหรอก” , “อย่าไปคิดมาก” , “ตอนเราถูกแฟนทิ้งยังชิลได้ แกอย่ามาดราม่า” , “เสแสร้งเปล่า” , “เรียกร้องความสนใจ” , “ฆ่าตัวตายทำไมบาปนะ” , “ทำไมไม่คิดถึงพ่อแม่” คำพูดเช่นนี้อาจยิ่งทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในตัวเขา และที่สำคัญคือโรคซึมเศร้ารักษาได้ แค่อย่านิ่งนอนใจ”
การก้าวผ่าน “รอยแผล” และความ “เจ็บปวด” จากโรคซึมเศร้า ไม่ได้อาศัยแค่กำลังใจที่เข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ “ความรัก” จากคนใกล้ชิด ความปรารถนาดีอย่างจริงใจมาช่วยเยียวยา และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสุดสลดด้วยความเชื่อที่ว่า “ตัวเองไร้คุณค่า ไม่สมควรมีชีวิตอยู่” และนำไปสู่การ “ฆ่าตัวตาย” ครั้งแล้ว ครั้งเล่า :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน