เจาะเทรนด์ “การ์ตูนออนไลน์เกาหลี” ถูกนำไปสร้างหนัง-ละคร

Cheese in The Trap/ HYDE JEKYLL, ME/ Misaeng (มิแซง) และ Scholar Who Walks The Night  คือ ซีรีส์ส่วนหนึ่งที่สร้างและดัดแปลงมาจาก “เว็บตูน” หรือ “การ์ตูนออนไลน์” ยอดนิยม ที่ทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในความบันเทิงที่ทรงพลังและกำลังเติบโตในแดนกิมจิ ด้วยแนวเรื่องที่หลากหลาย สนุก เข้าถึงได้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ด้วยจำนวนผู้อ่านราว 17 ล้านคน จากประชากรเกาหลีทั้งหมดกว่า 51 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประเทศเลยทีเดียว เลยไม่แปลกที่ความแรงของการ์ตูนออนไลน์ที่มักมีความยาวไม่เกิน 30 ตอน จะดึงดูดใจให้ผู้สร้างหนัง และละคร สนใจซื้อลิขสิทธิ์เว็บตูนหลายเรื่องไปดัดแปลง และเสกตัวการ์ตูนให้โลดแล่นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ  ไม่ต่างจากค่ายMarvel และ DC ของฝั่งฮอลลีวูด ที่เนรมิตบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ และเหล่าวายร้ายในสต็อก ให้มาปล่อยพลังฟาดฟันกันบนแผ่นฟิล์ม


“วอน ดง ยอน” (Won Dong-yeon) โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง Along With the Gods: The Two Worlds ที่นำแสดงโดย ชาแตฮุน คิดว่า การที่มีหนังซึ่งอิงจากการ์ตูนออนไลน์มากยิ่งขึ้นนั้นนับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะคนดูก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่เขาก็ยอมรับว่า การที่บทหนังในเกาหลีมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับที่อื่นไม่ว่าจะเป็นฝั่งฮอลลีวูด หรือญี่ปุ่น ก็เป็นความเสี่ยงในเชิงธุรกิจเหมือนกัน โดยเฉพาะหากคิดจะทำหนังฟอร์มยักษ์ ถ้าไม่เจ๋งจริง ก็อาจเจ๊งไม่เป็นท่าได้  ถึงอย่างนั้น วอนดงยอง ก็มั่นใจว่าหนัง Along With the Gods: The Two Worlds ที่เขาร่วมอำนวยการสร้างและเข้าฉายในเดือนธันวาคมนี้ จะไม่แป้ก เพราะน่าจะมีฐานคนดูกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นแฟนเว็บตูนเรื่องนี้ รวมถึงเนื้อหาที่เป็นสากลเข้าใจได้ง่าย


เช่นเดียวกับผู้บริหารค่าย CJ Entertainment อย่าง “จอง แท ซอง” (Jeong Tae-Sung) ที่บอกว่า เว็บตูนนั้นดึงดูดผู้สร้างหนัง เพราะต่างก็รู้ว่ายังไงก็มีฐานผู้ชมที่เป็นคอการ์ตูนออนไลน์อยู่แล้ว และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เรื่องจากเว็บตูนนั้นไม่ซ้ำแบบใครและมีเส้นเรื่องที่ชัดเจน


 ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เว็บตูนบูมขึ้นไป จนโตแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่มีมูลค่า 152.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,023 ล้านบาท ในปี 2014 พุ่งขึ้นเป็น 265.6 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8,765 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว คือ การที่ผู้จัดงานเทศกาลหนังปูซานได้เปิดตลาดให้สำนักพิมพ์ และผู้สร้างสรรค์เว็บตูนได้พบปะกับผู้สร้างหนังเมื่อ 6 ปีก่อน ก่อนที่จะจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้านผลงานบันเทิงกันเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 2015 

เข้าชม 128 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม