นอกจากการแสดงนาฏศิลป์ไทยแขนงต่างๆ แล้ว การแสดงชุดพิเศษ “ศิลปนาฏดุริยางค์ไทย ในรัชกาลที่ ๙” ยังจะมีการเสวนาหน้าม่าน เรื่อง “ในหลวง รัชกาลที่ ๙ กับการนาฏศิลป์ไทย” ด้วย ซึ่งจะทำให้พวกเรายิ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ที่ทรงแผ่ปกไปถึงทุกเรื่องของคนไทยจริงๆ
นี่คือบรรยากาศเมื่อ 54 ปีที่แล้ว ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขนละคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ภายในโรงละคร พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากเหล่าศิลปินรวมตัวกันกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแต่งตั้งประธานผู้ประกอบพิธี พร้อมสืบทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งวงการโขนละครนับว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงสุดที่ใกล้จะสูญหาย
แต่เนื่องจากครูโขนละครที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ เสียชีวิตไปหมดแล้ว จึงไร้ผู้สืบทอดหน้าที่ประธานในพิธีดังกล่าว ในหลวง รัชกาลที่ ๙ จึงเสด็จเป็นองค์ประธานด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บันทึกเทปท่ารำเพื่อเก็บรักษากระบวนท่ารำชุดนี้ไว้เป็นมรดกของชาติ มิให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ยังความปลื้มปีติอย่างยิ่งแก่เหล่านาฏศิลปินอย่างยิ่ง และนับเป็นพิธีไหว้ครูโขนละครสายพิธีหลวง ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๙
พระมหากรุณาธิคุณและความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อวงการนาฏศิลป์ดนตรีไทย ยังปรากฏทางอ้อม ด้วยทรงสนับสนุน ส่งเสริมให้พระราชโอรส พระราชธิดา ฝึกฝนเรียนรู้ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยทุกแขนง โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสนพระทัยในการเรียนโขนตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงดนตรีไทยได้ทุกชนิด
เรื่องราวแห่งพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการนาฏศิลป์ดนตรีไทย ยังมีอีกมากมาย ซึ่ง 3 ศิลปินแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์, ด็อกเตอร์สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, อาจารย์จตุพร รัตนวราหะ รวมถึงอาจารย์รัตติยะ วิกสิตพงษ์ จะมาร่วมถ่ายทอดในงาน “๙ ตามพ่อ สานต่อพระราชปณิธาน” วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมนี้ เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป รับบัตรเข้าชมฟรี ท่านละ 2 ใบได้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมนี้ เวลา 16.00 น. หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เข้าชม 230 ครั้ง