กรมปศุสัตว์ จ่อดำเนินคดี เจ้าของแมวและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เหตุวางยาแมวเข้าฉาก

คืบหน้าล่าสุด ประเด็นร้อนวางยาสลบแมวดำเพื่อเข้าฉากละคร แม่หยัว โดยในฉากมีแมวดำกินน้ำที่ผสมยาพิษ ก่อนจะชักกระตุก มีการขย้อนอาหารออกมาและนิ่งไป แม้ทางผู้ผลิตและทีมงานจะชี้แจงว่าการถ่ายทำฉากดังกล่าวมีการวางยาสลบแมวเพื่อถ่ายทำที่สมจริง ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ หลังถ่ายทำแมวตัวที่แสดงปกติดี แต่ซีนดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมที่ท้วงติงการกระทำดังกล่าวว่าเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ จนเกิดดรามา #แบนแม่หยัว


โดย นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ และสำนักกฎหมาย ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าละครเรื่องแม่หยัว มีฉากวางยาแมวทำให้แมวแสดงอาการเหมือนถูกวางยาพิษว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยกรมปศุสัตว์ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับละครดังกล่าวมาเพื่อให้ถ้อยคำและนำแมวที่แสดงมาตรวจร่างกาย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์

จากการตรวจสอบคุณลักษณะของแมวที่นำมา ด้วยเทคนิค AI และ Deep Learning โดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท โลจิเซ็นส์ จำกัด และสมาคมเมกเกอร์ ประเทศไทย พบว่า ลักษณะโครงหน้ารูปร่าง ขา ความสูง หรืออัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเทียบเคียงกันในแต่ละเฟรมหรือแต่ละรูปเหมือนกันถึง 80% จึงน่าเชื่อได้ว่าแมวที่นำมาให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวเดียวกับแมวที่แสดงในละคร และผลการตรวจร่างกาย พบว่าแมวมีสุขภาพปกติ การตรวจด้วยรังสีเอกซ์ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอกและช่องท้อง การตรวจผิวหนังไม่พบบาดแผลใดๆ ผลการการตรวจโลหิตไม่พบความผิดปกติของเม็ดเลือด และการทำงานของตับและไต แต่อย่างใด


สำหรับการสอบข้อเท็จจริง พบว่า เจ้าของแมวซึ่งเป็นผู้รับจ้างจัดหาแมวที่มาแสดงในฉากแมวสีดำแสดงอาการเหมือน ถูกวางยาพิษในละครดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ถ้อยคำว่า ตนไม่มีใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์แต่มีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์มานาน เป็นผู้ฉีดยาระงับประสาทชนิดเดียวกับที่สัตวแพทย์ใช้สำหรับการเตรียมตัวสัตว์ก่อนการวางยาสลบสัตว์ ให้แก่แมวด้วยตนเองโดยได้รับค่าจ้างการทีมงานละคร

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะได้มอบหมายให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับ เจ้าของแมวและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 20 และไม่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนอย่างเหมาะสม ตามมาตรา 22 ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่ที่พบกระทำความผิดดังกล่าว ต่อไป

ข้อมูล : กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์


เข้าชม 82 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม