อาทิตย์ที 1 ม.ค. นี้ ในรายการ “คนค้นฅน” พบกับตอน “Green Road ชีวิตที่สองของขยะพลาสติก”

ทศวรรษที่ 2 ของรายการ “คนค้นฅน” ซึ่งผลิตโดย บริษัท ทีวีบูรพาฯ ยังคงเดินทางเพื่อตามหาคุณค่า ตามหาความหมายของชีวิต พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้ชมผ่าน “คนต้นเรื่อง” วันอาทิตย์ที่ 1 ม.ค. นี้ เวลา 13.00 น. ทางช่อง 9 กด 30 พบกับตอน “Green Road ชีวิตที่สองของขยะพลาสติก”


ผศ.ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดร.เป้า Green Road อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งโครงการ Green Road เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาพาลูกไปเที่ยวทะเลครั้งแรก ช่วงกำลังจะขึ้นเกาะ น้ำตื้น เด็ก ๆ จึงสามารถว่ายน้ำเล่นได้ เขาอยู่บนเรือและได้เห็นภาพขยะมากมายในน้ำลอยไปมา แทนที่เราจะได้สร้างความประทับใจกับธรรมชาติตรงนี้ไว้นาน ๆ ท้องฟ้าสีคราม หาดทรายสีขาว กลายเป็นว่าลูกของเขาได้มาเล่นน้ำกับกองขยะ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ดร.เป้า ตัดสินใจหาวิธีแก้วิกฤตขยะในสิ่งแวดล้อมจากมุมของตัวเองเนื่องจากเขามีพื้นฐานด้านวิศวกรรมโยธา จึงเริ่มศึกษางานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับการทดลองแปรรูปขยะ และพบว่าขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลนั้นมีแหล่งกำเนิดเดียวกับยางมะตอย ซึ่งจัดเป็นปิโตรเคมีเช่นกัน จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ โปรเจกต์เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นวัสดุทดทดแทนจึงเกิดขึ้น โดย ดร.เป้า ปรับเปลี่ยนวิธีการจากงานวิจัยดังกล่าวให้เหมาะสมกับบริบทภูมิประเทศของไทย ผลที่ออกมาทำให้ค่าความเสถียรภาพหรือค่าความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ที่นำขยะมาแปรรูปนั้นมีมากขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นคือครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปัจจุบัน ดร.เป้า สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้แข็งแรงขึ้นได้เกือบ 300 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุทดทดแทนของดร.เป้าขยายใหญ่ขึ้น

เมื่อกลุ่มจิตอาสานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มาเข้าร่วมภายใต้ชื่อ Green Road นักศึกษา 9 คน และอีกอาจารย์ 1 คน ช่วยกันเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทดลองทำเป็นบล็อกปูถนน หลังคา ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจมาก ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากขยะพลาสติกบางอัน มีประสิทธิภาพดีกว่าต้นฉบับ และเมื่อโปรเจกต์ขยายใหญ่ขึ้น จากแค่เดินเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทำการทดลอง เราเริ่มรับบริจาคขยะ เอามาทำเป็นบล็อกสำหรับปูถนนในมหาวิทยาลัย จากคนกลุ่มเล็ก ๆ ในสถานศึกษา ขยายตัวเป็นหนึ่งในองค์กรจิตอาสา ที่ตอนนี้แยกตัวออกมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่เฉพาะนักเรียน นักศึกษา หรืออาจารย์เท่านั้น

ขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งมาจากการบริจาคของคนทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้ เมื่อรับขยะมาแล้ว Green Road ต้องเป็นผู้คัดแยกเอง แต่ปัจจุบันผู้คนรับรู้และเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะส่วนใหญ่ที่ส่งมาได้รับการแยกประเภทเรียบร้อยมาตั้งแต่ต้นทาง ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่ง ได้รับบริจาคจากโรงงานพลาสติก ที่ยินดีส่งบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐานมาให้ Green Road นำไปรีไซเคิลสร้างประโยชน์ แทนที่จะทิ้งพวกมันไป เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดร.เป้า และทีมนักศึกษา รีไซเคิลขยะเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ บริจาคแก่โรงเรียน วัด อุทยานแห่งชาติ นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะบล็อกปูถนนที่เป็นภาพจำของโปรเจกต์ Green Road ติดตามเรื่องราวของ ดร.เป้า กับโปรเจกต์ Green Road ได้ ในรายการคนค้นฅน ตอน Green Road ชีวิตที่สองของขยะพลาสติก #ช่อง9กด30

เข้าชม 94 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม