ถึงแม้ว่าการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงไป-กลับ ไทย-ลาว ระยะทางร่วม 15 กม. ของนักร้องหนุ่ม “โตโน่ ภาคิน” ในกิจกรรม “One Man and the River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” จะผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยอดบริจาคเงินยังคงพุ่งไม่หยุดทะลุ 63 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพราะหลายคนคงเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของโตโน่ ในการที่มีวัตถุประสงค์ระดมทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่ รพ.นครพนม และ รพ. แขวงคำม่วน สปป.ลาว อย่างแรงกล้า
แต่ดูเหมือนดราม่าต่างๆ ก็ยังไม่จบเช่นเดียวกัน ทั้งเรื่องที่ว่าชื่อโครงการ “หนึ่งคนว่าย” แต่คนในแม่น้ำมากกว่า 50 คน จนเกิดเกิดวลีที่ว่า “หนึ่งคนแน่นะวิ” หรือจะเป็นการออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลของรุ่นน้องคนสนิท “หมอริท – เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช” ที่ว่า
“ยินดีด้วยกับการ #ว่ายน้ำข้ามโขง ของพี่ #โตโน่ภาคิน ในวันนี้นะครับที่ปลอดภัย และได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก อย่างแรกต้องขอขอบคุณในน้ำใจและความเสียสละของพี่ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อคนอื่นแบบพี่ ไม่ได้หาได้ง่ายเลย นับถือใจจริงๆ ในบทสัมภาษณ์มีหลายครั้งที่พี่พูดว่า ที่พี่มาว่ายน้ำครั้งนี้ เพราะหมอและพยาบาลเขาเหนื่อยกว่า เสี่ยงกว่า เลยอยากขออนุญาตฝากมุมมองไว้สักนิดครับ เผื่อพี่อาจจะลืมมองในเหตุผลพวกนี้นะครับ (ไหนๆ คนก็สนใจโครงการพี่เยอะแล้ว)
1. ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1,000 ล้าน หมอ พยาบาล เขาก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไงก็มีการรักษารองรับ (ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม ซึ่งทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอๆ ก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ
2. พี่บอกว่าหมอ พยาบาล เสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอ พยาบาล ทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเขาทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็น และไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค? ส่วนตัวมองว่า การบริจาคไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่ที่มา หลักการ จุดประสงค์ของโครงการ และการนำเงินไปใช้ต้องชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไปในตัวด้วยครับ ถ้าพี่สื่อสารจุดนี้ได้ด้วย คิดว่าคนไม่เห็นด้วยน่าจะน้อยลงนะครับ และทำให้โครงการของพี่ดูมีเหตุสมควรมากขึ้น”
งานนี้ทำเอาชาวโซเชียลเสียงแตกมีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยกับโตโน่และฝั่งที่เห็นด้วยกับหมอริท แต่สุดท้ายนี้เราก็เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายล้วนต้องการให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นกับสังคมเหมือนกัน.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน