เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี นายประสพ เรียงเงิน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย/สมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ลาน Beacon 2 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยนิทรรศการฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 กันยายน 2565
นายอิทธิพล กล่าวว่า Soft Power เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรม และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการนำมิติศิลปะร่วมสมัยทางด้านการออกแบบมาสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมให้มีความน่าสนใจและโดดเด่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า โครงการฯ นี้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 และได้ค้นหาอัตลักษณ์และสร้างสรรค์ผลงานของท้องถิ่นให้กับ 199 อำเภอ ใน 18 จังหวัดเป้าหมายตามยุทธศาสตร์และยังมีแผนดำเนินโครงการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อเนื่องอีกใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดนครปฐม ซึ่งผลงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นคอนเทนต์และพัฒนาต่อยอดด้านการออกแบบอัตลักษณ์ของชุมชนในรูปแบบร่วมสมัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน เช่น สินค้าทางเกษตร สินค้าด้านแปรรูปอาหาร สินค้าวัฒนธรรม ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม ลวดลายผ้า โลโก้อำเภอ สีอัตลักษณ์อำเภอ หรือแม้แต่การออกแบบฟอนต์อักษรที่มาจากอัตลักษณ์จังหวัด ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เป็นต้น
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้สร้างสรรค์ผลงาน จำนวน 34 ผลงาน จาก 34 อำเภอ ตอกย้ำคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นถิ่น สร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนมีการเรียนรู้ ระดมความคิดผ่านภาครัฐ ภาคเอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชน ทำให้เข้าใจการต่อยอดวัฒนธรรม ถือเป็นต้นแบบกระบวนการทำงานให้สังคมท้องถิ่นมีความเข้าใจและภูมิใจในอัตลักษณ์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มพูนรายได้ในแนวทางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยภายในงานนิทรรศการฯ ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงผลงานและองค์ความรู้การออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นของ 3 จังหวัดเป้าหมาย และส่วนจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากชุมชน/ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ และนำไปพัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า โครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เป็นโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของไทย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่ประเทศไทยในทุกมิติ.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน